นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้านโยบาย “รื้อ ลด ปลด สร้าง” ว่า ประเด็นหลักด้านพลังงานที่เกี่ยวข้องกับประชาชนคือเรื่อง ไฟฟ้า น้ำมัน และก๊าซ ซึ่งที่ผ่านมาบางเรื่องอยู่นอกเหนือการควบคุมของกระทรวงพลังงาน บางเรื่องก็อยู่ในอำนาจที่จะบริหารจัดการได้ จึงพยายามแก้ปัญหาให้รัฐบาลมีอำนาจเข้ามาดูแลช่วยเหลือประชาชนให้มากที่สุด
ในส่วนของก๊าซนั้นได้แก้ไขการกำหนดราคาก๊าซใน Gas Pool ไปเมื่อต้นปีนี้ ทำให้สามารถควบคุมค่าไฟฟ้าได้ระดับหนึ่ง ส่วนเรื่องน้ำมันปัญหาหลักมีสองส่วน ส่วนแรกคือราคาเนื้อน้ำมันที่ขึ้นลงตามตลาดโลกอยู่นอกเหนือการควบคุมเช่นเดียวกับราคาก๊าซที่นำมาผลิตไฟฟ้า ส่วนที่สองคือการจัดเก็บภาษี ส่วนแรกอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงพลังงานที่กำลังคิดหาทางแก้ไข ส่วนที่สองอยู่ในอำนาจของกระทรวงการคลัง ซึ่งกระทรวงพลังงานพยายามขอความร่วมมือตลอดมา เพื่อลดราคาพลังงานให้ประชาชน ซึ่งยังเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข
อย่างไรก็ตามรัฐบาล อยู่ระหว่างการเตรียมนำร่างกฎหมายเข้าสภาเพื่อให้กระทรวงพลังงานมีอำนาจในการบริหารจัดการราคาพลังงานในหลายๆ มิติ ซึ่งที่ผ่านมา ที่สามารถดำเนินการได้สำเร็จแล้วคือ การให้ผู้ค้าน้ำมันต้องเปิดเผยต้นทุนราคาน้ำมันนำเข้าที่แท้จริง ส่วนร่างกฎหมายน้ำมัน SPR หรือ Strategic Petroleum Reserve ระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์ อยู่ระหว่างการเตรียมนำเข้ารัฐสภาในต้นปี 2568 ซึ่งหากดำเนินการสำเร็จ ก็จะทำให้กระทรวงพลังงานสามารถบริหารจัดการด้านน้ำมันได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ระบบ SPR จะเป็นแนวทางการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันแบบที่สากลใช้กันในกลุ่ม IEA หรือองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) โดยใช้การบริหารกลไกราคาน้ำมันโดยใช้ปริมาณน้ำมันในสต็อก ซึ่งไม่ได้ใช้เงินในการอุดหนุนเหมือนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของเราที่ทำอยู่ในปัจจุบัน โดยจะทำให้ไทยมีระบบสำรองน้ำมันเป็นของประเทศไม่ได้ขึ้นอยู่กับภาคเอกชนอย่างเดียว
สำหรับการแก้ปัญหาราคาน้ำมันไบโอดีเซล หรือ B100 ที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น ขณะนี้กระทรวงพลังงานได้เตรียมพร้อมในการแก้ปัญหาหลังสิ้นสุดการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปี พ.ศ. 2569 พร้อมหาแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันที่จะได้รับผลกระทบในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยจะนำรูปแบบการแก้ปัญหาเรื่องอ้อย กับน้ำตาลทราย ตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ปี 2527 มาปรับใช้ ซึ่งได้หารือกับ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้ง ปลัดกระทรวงพลังงาน และปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา และได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อยกร่างกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมันให้กับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน โดยมี นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เป็นประธานคณะกรรมการ และ คาดว่าภายใน 5-6 เดือน หลังจากนี้จะเริ่มเห็นรูปร่างของโครงการชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ในอดีตน้ำมันปาล์มดิบถูกนํามาใช้ประโยชน์ในช่วงที่น้ำมันดีเซลมีราคาแพงโดยนํามาผสมกับดีเซล ทําให้มีปริมาณน้ำมันเพิ่มขึ้นและราคาถูกลงเรียกว่า น้ำมันไบโอดีเซล หรือ บี100 แต่ว่าปัจจุบันราคาน้ำมันปาล์มดิบ อยู่ที่ 41-42 บาท/ลิตร ซึ่งแพงกว่าเนื้อน้ำมันดีเซลที่นํามาผสมเกือบเท่าตัว จึงเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ทําให้ราคาน้ำมันในประเทศแพงขึ้น และต้องใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาชดเชยเพื่อให้ราคาดีเซลไม่เกิน 33 บาท/ลิตร ซึ่งเหลือเวลาให้ชดเชยได้อีกเพียง 2 ปีเท่านั้น ขณะเดียวกัน ด้านเกษตรกรผู้ผลิตปาล์มน้ำมันก็เริ่มมีปัญหาส่วนแบ่งราคากับโรงสกัด และผลประโยชน์จากราคาน้ำมันปาล์มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นก็ไปไม่ถึงเกษตรกรอย่างที่ควรจะได้รับ ทั้งนี้ จากผลผลิตน้ำมันปาล์มทั้งหมดในประเทศ 1 ใน 3 นำมาผสมกับน้ำมันดีเซลเพื่อใช้ภายในประเทศ ส่วนอีก 2 ใน 3 นำไปผลิตน้ำมันพืชและผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยมีการส่งออกในส่วนนี้ประมาณ 20%
“หวังว่าร่างกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมันฉบับนี้ จะเป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่สร้างความเป็นธรรม มีการจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างผู้ที่นำผลปาล์มน้ำมันไปผลิตเป็นน้ำมัน และดูแลเกษตรกรผู้ผลิตปาล์มน้ำมัน ให้ได้ค่าตอบแทนผลผลิตที่เป็นธรรมและถูกต้อง ทำให้เกษตรกรได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เมื่อกองทุนน้ำมันต้องหยุดชดเชยการผสมน้ำมันปาล์มในเนื้อน้ำมัน รวมทั้งสายการผลิตที่จะนำผลปาล์มน้ำมันไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ดีกว่าในปัจจุบัน” นายพีระพันธุ์กล่าว