
นายสุชาติ ชมกลิ่น รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศติดตามสถานการณ์การค้าของไทยในปี 2567 พบว่า การส่งออกขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะประเทศที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ด้วย ซึ่งการค้ารวมของไทยกับกลุ่มประเทศคู่ FTA มีมูลค่า 360,340 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 5% จากปี 2566 และการส่งออกไปกลุ่มประเทศคู่ FTA มีมูลค่า 172,046 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 3% สำหรับตลาดคู่ FTA ที่ขยายตัวได้ดี อาทิ เปรู ขยายตัว 33% อินเดีย ขยายตัว 16% นิวซีแลนด์ ขยายตัว 13% จีน ขยายตัว 3% ชิลี ขยายตัว 3% และอาเซียน 5% โดยรายประเทศอาเซียน อาทิ กัมพูชา ขยายตัว 43% สปป.ลาว ขยายตัว 6% เวียดนาม ขยายตัว 5% มาเลเซีย ขยายตัว 3% และสิงคโปร์ ขยายตัว 1%
“FTA ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของไทย รวมทั้งช่วยสร้างแต้มต่อและเพิ่มศักยภาพทางการเเข่งขันให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการไทยในตลาดโลก ซึ่งคาดว่าในปี 2568 การส่งออกของไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากทิศทางการค้าโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ราคาสินค้าเกษตรและอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น และความต้องการสำรองสินค้าเพื่อความมั่งคงทางอาหาร ซึ่งปัจจัยดังกล่าวถือเป็นโอกาสการส่งออกสินค้าของไทย โดยเฉพาะตลาดที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ด้วย จึงขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จาก FTA ให้เต็มที่ โดยปัจจุบันไทยมี FTA ที่มีผลใช้บังคับแล้ว 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ และมี FTA ไทย-ศรีลังกา เป็น FTA ฉบับที่ 15 คาดว่าจะผลบังคับใช้ภายในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2568 นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568 ไทยได้ลงนาม FTA กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) ซึ่งเป็น FTA ฉบับแรกของไทยกับประเทศในยุโรปอีกด้วย” สุชาติ กล่าว
ด้านนางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากการติดตามสถานการณ์การค้าของไทยในปี 2567 เมื่อพิจารณาในรายสินค้า กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกไปประเทศคู่ FTA เติบโตสูง มีมูลค่า 127,603 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4% คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกไปตลาด FTA 54% ของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทย สินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ ขยายตัว 48% ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม ขยายตัว 23% เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ขยายตัว 14% เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 13% ทองแดงและของทำด้วยทองแดง ขยายตัว 12% และเคมีภัณฑ์ ขยายตัว 8%
สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปไปประเทศคู่ FTA แม้ในภาพรวมจะชะลอตัวเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า โดยการส่งออกสินค้าเกษตรไปประเทศคู่ FTA หดตัว 0.5% สินค้าเกษตรแปรรูป หดตัว 1% เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลให้เกิดสภาวะภัยแล้งจนกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรของไทย และสภาวะเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว แต่เมื่อพิจารณาในรายสินค้า พบว่า มีสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปสำคัญหลายรายการที่ยังคงส่งออกได้ดี อาทิ กาแฟ ขยายตัว 105% เครื่องเทศและสมุนไพร ขยายตัว 49% ยางพารา ขยายตัว 30% ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 22% โกโก้และของปรุงแต่ง ขยายตัว 17% ซุปและอาหารปรุงแต่ง ขยายตัว 14% ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป ขยายตัว 10% และปลา ขยายตัว 8% นอกจากนี้ ปัจจุบันไทยยังคงครองตำแหน่งเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอันดับที่ 1 ของอาเซียน และเป็นอันดับที่ 8 ของโลก และผู้ส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย และมาเลเซีย และเป็นอันดับที่ 9 ของโลก
ทั้งนี้ ในปี 2568 กรมมีแผนที่จะเร่งเดินหน้าเจรจา FTA กับคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหภาพยุโรป แคนาดา เกาหลีใต้ และภูฏาน พร้อมทั้งมีเป้าหมายเปิดเจรจากับคู่ค้าใหม่ ได้แก่ บังกลาเทศ สหราชอาณาจักร สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก หรือ Pacific Alliance และตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง หรือ MERCOSUR