
นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ หรือ ผอ. BEDO เปิดเผยว่า BEDO เล็งเห็นถึงความมั่นคงของฐานทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ อันจะนำมาซึ่งรายได้ของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นห่วงโซ่ขั้นต้นของเศรษฐกิจระดับประเทศ จึงได้นำหลักการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพมาดำเนินงานให้ชุมชนท้องถิ่นมีรายได้จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ให้ “การสร้างรายได้เป็นเครื่องมือการอนุรักษ์” ด้วยการดำเนินงานตามหลักการของ BEDO 3 ประการ ซึ่งประกอบด้วย การใช้ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพที่มีในชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่นการผลิตที่เป็นมิตรกับความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม และการปันรายได้ไปอนุรักษ์ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ
นางสุวรรณา กล่าวต่อว่า BEDO ได้สนับสนุนส่งเสริมสร้างต้นแบบให้ชุมชนคนที่อยู่ในท้องถิ่นที่อยู่ติดฐานทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ สามารถนำทรัพยากรมาต่อยอดสร้างรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างยั่งยืน และเป็นกำลังสำคัญให้การอนุรักษ์ รักษา ความหลากหลายทางชีวภาพในชุมชนท้องถิ่นให้คงอยู่ยั่งยืนตามแนวทางของ BioEconomy, Circular Economy และ Green Economy โดยชุมชนต้องมีการพัฒนาสินค้าและบริการบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพด้วยการใช้สหวิทยาการที่เกี่ยวข้องในบริบทที่เหมาะสม และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนนำทรัพยากรชีวภาพมาผลิตเป็นสินค้าที่มีมูลค่าทางการตลาดอย่างยั่งยืน BEDO จึงได้ให้เครื่องหมายสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการจากความหลากหลายทางชีวภาพเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือและเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในตัวสินค้าว่าผู้ซื้อได้สนับสนุนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน
เครื่องหมาย “B MARK” เป็นเครื่องหมายสำหรับสินค้าที่ผลิตจากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานการอนุรักษ์ ที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้ทรัพยากรชีวภาพหรือภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างคุ้มค่า นำไปสู่การอนุรักษ์ ฟื้นฟู โดยการรักษาสมดุลของระบบนิเวศระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ภายใต้หลักการ “BEDO-BCG” ด้วยหลักสำคัญ 3 ประการ คือ การใช้ทรัพยากรชีวภาพชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นวัตถุดิบหลัก : BioEconomy การผลิตที่เป็นมิตรกับความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม : Circular & Green Economy และการปันรายได้ไปอนุรักษ์ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ : Sustainable Development Goals

ทั้งนี้ สินค้าที่จะรับเครื่องหมาย “B MARK” จะหมายถึงสินค้าที่มีการผลิตตามข้อกำหนดบนพื้นฐานของหลักการ BEDO-BCG ทำให้ผู้ซื้อมั่นใจได้ว่าเป็นสินค้าที่เป็นมิตรกับความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมและมีการแบ่งปันรายได้ไปอนุรักษ์อย่างแท้จริง โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่สามารถขอเครื่องหมาย B MARK ได้แก่ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและความงาม ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้สอย และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
“ขอเชิญชวนผู้ประกอบการที่อยู่ในกลุ่มที่สามารถขอรับเครื่องหมาย B MARK ได้ และต้องการสร้างความเชื่อมั่นต่อผลิตภัณฑ์ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายเศรษฐกิจชุมชน ของ BEDO โดยเมื่อได้รับเครื่องหมาย “B MARK” แล้ว ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิประโยชน์ อาทิ สามารถใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดในการประชาสัมพันธ์สินค้าตามหลัก 3 ประการของ BEDO เพื่อให้ผู้บริโภคตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมและแหล่งของวัตถุดิบ ได้รับสิทธิในการวางจำหน่ายที่ร้าน BioValue by BEDO หรือช่องทางการจัดจำหน่ายของพันธมิตรอื่น ๆ ได้รับสิทธิในการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการตลาดร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร รวมทั้ง สิทธิประโยชน์อื่นในอนาคต เช่น BEDO ผลักดันให้สินค้ามีโอกาสไปจำหน่ายในต่างประเทศ, การประชาสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ, การทำ Business Matching, การพัฒนาทักษะทางธุรกิจและการตลาด, ระบบเครือข่ายการตลาด (Cluster)” ผอ. BEDO กล่าวเชิญชวน