สหรัฐฯ ชื่นชมไทยปราบ สินค้าระเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

Date:

​​นางสาวนุสรา กาญจนกูล อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่ผ่านมา สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ประกาศสถานการณ์คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้ารายสำคัญ ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ (Special 301) ประจำปี 2568 โดยคงสถานะไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List: WL) ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ดำเนินการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทยอย่างต่อเนื่อง และเตรียมชี้แจงสหรัฐฯ ถึงพัฒนาการและดำเนินการตามแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Work Plan) เพื่อผลักดันให้ไทยหลุดจากทุกบัญชี

​​นางสาวนุสรา กล่าวว่า การที่สหรัฐฯ ได้ชื่นชมการดำเนินการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ซึ่งถือเป็นหัวใจของการมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ๒ ฉบับ ได้แก่ กฎหมายลิขสิทธิ์และกฎหมายสิทธิบัตร รวมถึงการกำกับดูแลองค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ (Collective Management Organizations: CMOs)ที่กรมฯ ได้อนุญาตให้องค์กรจัดเก็บฯ ที่ได้ดำเนินการตามหลักปฏิบัติที่ดีในการบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลง (Code of conduct) ใช้เครื่องหมายรับรอง CMOs รวมถึงการบูรณาการหน่วยงานของไทยในการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าของสิทธิ ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ศุลกากร อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ยังคงมีข้อห่วงกังวลบางประการ อาทิ การลักลอบบันทึกภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ การแอบอ้างสิทธิในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ การละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ผ่านการสตรีมและดาวน์โหลด content โดยไม่ได้รับอนุญาต และความล่าช้าในการดำเนินคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา

โดยกรมฯ ได้เร่งพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง ซึ่งข้อกังวลของสหรัฐฯ กรมฯ ได้ดำเนินการสำเร็จไปแล้ว อาทิ การเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Copyright Treaty: WCT) และการลดระยะเวลาการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา อย่างไรก็ดี กรมฯ มุ่งมั่นผลักดันการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ เพื่อรองรับการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วย การแสดงและสิ่งบันทึกเสียงขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Performances and Phonograms Treaty: WPPT) และการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรเพื่อรองรับการเข้าเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮกว่าด้วยการจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระหว่างประเทศ (Hague Agreement Concerning International Registration of Industrial Designs: Hague Agreement) และการยกร่างกฎหมายกำกับดูแล CMOs

โดยเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ มั่นใจว่าสหรัฐฯ จะพิจารณาให้ไทยหลุดจากบัญชี WL และทุกบัญชี อีกทั้งการดำเนินการดังกล่าวยังเป็นการพัฒนาสภาพแวดล้อมด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เหมาะสมกับการค้า การลงทุนในยุคปัจจุบัน และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาดโลกท่ามกลางสมรภูมิทางการค้าระหว่างประเทศ

​​นางสาวนุสรา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการเร่งผลักดันให้ไทยหลุดจากบัญชี WL กรมฯกับ USTR ได้จัดทำแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Work Plan) เสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างรอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อแผนฯ ซึ่งแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญานี้จะเป็นกรอบในการดำเนินการเพื่อให้ไทยหลุดจากบัญชีดังกล่าวและทุกบัญชี และขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เห็นถึงความสำคัญของการคุ้มครองและการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี”

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

EXIM BANK ร่วมงานเสวนา ในงาน “MOF Journey 150 ปี”

EXIM BANK ร่วมงานเสวนาและพบปะผู้บริหารกระทรวงการคลังและหน่วยงานพันธมิตรในงาน “MOF Journey 150 ปี เส้นทางการคลังไทย”

สำนักงาน คปภ. จับมือ ญี่ปุ่น หารือกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย

สำนักงาน คปภ. จับมือ ญี่ปุ่น หารือกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย รองรับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินระดับโลก

เลขาธิการ คปภ. เน้นย้ำบทบาทในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย

เลขาธิการ คปภ. เน้นย้ำบทบาทในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของสำนักงาน คปภ. ในหลักสูตร ปธพ. รุ่น 11

สำนักงาน คปภ. จัดสัมมนาอนุญาโตตุลาการที่เชียงใหม่

สำนักงาน คปภ. จัดสัมมนาอนุญาโตตุลาการที่เชียงใหม่ เชื่อมโยงข้อมูลจากพื้นที่ สู่การพัฒนาระบบยุติธรรมทางเลือกเพื่อประชาชน