
Krungthai COMPASS เปิดเผยว่า ในปี 2567 มูลค่าการส่งออกสินค้ากุ้งไทยอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนในปี 2568-2569 คาดว่าจะอยู่ที่ 1,116 และ 1,073 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ ซึ่งยังต่ำกว่าระดับที่ไทยเคยส่งออกได้สูงสุดในปี 2554 ราว 70% เนื่องจากเศรษฐกิจคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มชะลอตัว และความสามารถในการแข่งขันของสินค้ากุ้งไทยลดลง
นอกจากนี้ กรณีสินค้ากุ้งไทยถูกสหรัฐฯ จัดเก็บภาษีพื้นฐาน 10% ในเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2568 และอาจถูกปรับขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้เป็น 36% ในเดือน ก.ค.-ธ.ค. 2568 คาดว่าจะทำให้ผู้ส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและกุ้งแปรรูปของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2568 มีต้นทุนภาษีเพิ่มขึ้นรวม 47 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.6 พันล้านบาท ซึ่งขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่างผู้ส่งออกไทยกับผู้นำเข้าสินค้ากุ้งในสหรัฐฯ รวมทั้งอาจมีความเสี่ยงที่ไทยจะถูกกดดันให้เปิดตลาดนำเข้าสินค้ากุ้งจากสหรัฐฯ มากขึ้น นอกจากนี้ หากภาครัฐของไทยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 400 บาทต่อวัน คาดว่าจะทำให้ต้นทุนแรงงานเฉลี่ยของธุรกิจกุ้งไทยเพิ่มขึ้นราว 5% ซึ่งกดดันให้กำไรขั้นต้นของผู้ประกอบการลดลงราว 3%
Krungthai COMPASS แนะนำการยกระดับอุตสาหกรรมกุ้งไทยอย่างยั่งยืนควรใช้แนวคิด S-H-R-I-M-P ได้แก่ S-Sustainability ผลิตสินค้ากุ้งที่ยั่งยืน H-High quality ควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยให้ได้ตามมาตรฐานสากล R-Research and development วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง I-Innovation ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย M-Market distribution ขยายการส่งออกกุ้งไปตลาดศักยภาพ และ P-Partnership ส่งเสริมความร่วมมือกันทั้ง Ecosystem