ผู้ประกอบการค้าออนไลน์ จี้รัฐสร้างช่องทางขายของตัวเอง

Date:

คณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา จัดสัมมนา “e-Commerce กลืนชาติ : ฟังเสียงคนค้าออนไลน์ไทยก่อนจะสาย” ที่อาคารัฐสภา โดยมี นายวิวรรธน์ ไกรพิสิทธิ์กูล ประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภาเป็นประธานเปิดสัมมนา โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งไทยและต่างประเทศ ผู้ประกอบการขนส่ง และผู้ที่สนใจมารับฟังเป็นจำนวนมาก เพื่อบอกถึงอุปสรรคในการค้าออนไลน์ พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้กมธ.นำไปเสนอหน่วยงานเกี่ยวข้องดำเนินการแก้ปัญหา

ดร.เอกชัย เรืองรัตน์ รองประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ฯ (กมธ.) เปิดเผยว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้ได้รับรู้ถึงความต้องการของผู้ประกอบการโดยตรง ทำให้เราทราบว่าอะไรที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าออนไลน์ อะไรที่ผู้ประกอบการต้องการให้หน่วยงานรัฐแก้ปัญหา กมธ.จึงต้องเป็นสื่อกลางระหว่างหน่วยงานรัฐและผู้ประกอบการโดยตรง เพราะการค้าออนไลน์มีมูลค่ามหาศาลนำรายได้เข้าประเทศจำนวนมาก 

ดร.เอกชัย กล่าวว่า ภาพรวมตลาด E-Commerce ไทย มูลค่าตลาด E-Marketplace ปี 2024 ประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท มีส่วนแบ่งตลาด E-Marketplace ประกอบด้วย Shopee: 40.9% (ประมาณ 330,946 ล้านบาท) Lazada: 34.9% (ประมาณ 282,474 ล้านบาท) TikTok: 24.1% (ประมาณ 195,051 ล้านบาท) ซึ่ง 70% ของรายได้มาจากค่าบริการโดยเฉลี่ยอยู่ที่  3% โดยพฤติกรรมผู้บริโภค  Shopee และ Lazada ยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่ผู้บริโภคนิยมเข้าชมมากที่สุดใน 30 วันที่ผ่านมา โดย Shopee มีสัดส่วน 75% และ Lazada 68%

ดร.เอกชัย กล่าวว่า ข้อเสียการขายผ่าน Market Place มีหลายอย่าง อาทิ การแข่งขันสูง เจอคู่แข่งทั่วประเทศ และต่างประเทศ ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม มีแนวโน้มจะปรับราคาขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าใครอยากยอดขายดีต้อง ซื้อโฆษณา ใน Marketplace ให้ช่วยดัน เราไม่ได้เจ้าของ Platform ปรับแก้อะไรไม่ได้ ข้อมูลไม่ใช่ของเรา ลูกค้า โดนปิดกั้น และหาก Marketplace ปิดร้านค้าเราขึ้นมา เราจะไม่สามารถควบคุมอะไรได้ ดังนั้นทางออกของผู้ประกอบการไทยคือ ต้องมีช่องทางการขายของตัวเอง (Owned Channel) เพื่อ ลดการพึ่งพา Marketplace

สำหรับ ข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงานถ้าเป็นปัญหาแพลตฟอร์มและระบบขนส่งคือ แพลตฟอร์มบังคับใช้ขนส่งที่กำหนด ทำให้ผู้ขายไม่สะดวก และแก้ไขปัญหายากเมื่อเกิดข้อผิดพลาด, แพลตฟอร์มชอบดองเงินผู้ขาย 7-14 วัน ควรจ่ายเร็วขึ้น,แพลตฟอร์มบังคับให้ส่งของรวดเร็วเกินไป สร้างความลำบากแก่ผู้ขาย และแพลตฟอร์ม TikTok เปลี่ยนขนส่งเองโดยไม่แจ้งผู้ขายล่วงหน้า โดยผู้ประกอบการมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมและการแข่งขันคือ ค่าธรรมเนียมแพลตฟอร์มสูงแต่บริการแย่ลง,ขอให้ลดค่าธรรมเนียมและควบคุมการเก็บเงินที่ไม่เป็นธรรม,เรียกร้องให้รัฐเก็บภาษีกับสินค้านำเข้ารายย่อยจากจีนอย่างเข้มงวด และต้องการลดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากสินค้าทุ่มตลาดและสินค้าปลอม

นอกจากนั้น ยังมีปัญหาสินค้าปลอมและสินค้านำเข้า โดยสินค้าปลอมและสินค้านำเข้าที่ไม่ถูกต้องยังแพร่หลายบนแพลตฟอร์ม ยังมีการปลอมแบรนด์ไทยและขายตัดราคาอย่างหนักใน Marketplace จึงต้องการให้แพลตฟอร์มตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้าจากจีนและสินค้าผิดกฎหมาย สินค้าจากจีน เช่น วัสดุก่อสร้างและสารเคมีอันตรายเข้ามากระทบธุรกิจไทย จึงมีข้อเสนอเชิงเทคนิคและเชิงระบบคือ อยากให้รัฐพัฒนาระบบกลางตรวจสอบเลข อย. และข้อมูลสินค้าก่อนโพสต์ขาย บังคับให้ Marketplace ที่มีรายได้สูงเปิด API เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงข้อมูลได้ แนะนำใช้แชทบอทแก้ปัญหาการติดต่อผู้ขายและลูกค้า และควรเปิดให้ระบบเชื่อมต่อการชำระเงิน การจัดส่ง และการจัดการคำสั่งซื้ออย่างเสรี

“ยังมีข้อเสนอให้รัฐควรเปิดข้อมูลเพื่อลิงก์เช็คข้อมูลสินค้า เช่น การตรวจสอบเลข อย. เมื่อผู้ขายกรอกข้อมูลบนแพลตฟอร์ม เพื่อยืนยันความถูกต้องก่อนโพสต์ขาย ข้อเสนอให้กำหนดสัดส่วนสินค้าบริการของไทยบนแพลตฟอร์มที่ให้บริการในประเทศ เพื่อส่งเสริมสินค้าไทยและลดการผูกขาดจากสินค้านำเข้า การสร้างระบบแจ้งเตือนและรายงานสินค้าผิดกฎหมาย และเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การเปิดข้อมูลควรเชื่อมต่อกับหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ  เช่น อย. , กรมทรัพย์สินทางปัญญา, กรมศุลกากร เพื่อการตรวจสอบที่ครบถ้วนและอัปเดตข้อมูลทันที”ดร.เอกชัย กล่าว

รองประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ฯ กล่าวว่า ยังมีข้อเสนอให้รัฐบาลและหน่วยงานรัฐควรตั้งแพลตฟอร์มกลางของไทย และสนับสนุนแพลตฟอร์มไทยให้แข่งขันได้ อยากให้รัฐบังคับ Marketplace เปิดเผยข้อมูลผู้ขายและลูกค้า เพื่อความโปร่งใส รัฐควรมีมาตรการควบคุมสินค้านำเข้าเลี่ยงภาษี และตั้งกำแพงภาษีที่เหมาะสม สนับสนุนการใช้ระบบกลางสำหรับการเปิดใบเสร็จและใบกำกับภาษีในแพลตฟอร์ม เรียกร้องให้รัฐมีระบบแจ้งเตือนและช่องทางร้องเรียนที่เข้าถึงง่าย

อย่างไรก็ตาม อยากให้รัฐส่งเสริมผู้ประกอบการไทยและ SMEs อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การลดภาษีหรือสนับสนุนทุน ผู้ประกอบการขอให้มีกฎหมายและการบังคับใช้ที่เท่าเทียมและเข้มงวด อีกทั้งมีข้อสังเกตคือ ทุกประเทศกำลังพยายามลดการนำเข้าสินค้าจีนราคาถูกที่เข้ามาทุ่มตลาดในประเทศ แต่ทำไมประเทศไทยยังคงอนุญาตให้มีการทุ่มตลาดราคาสินค้าเข้ามาในตลาดของเราอยู่ ขอให้ภาครัฐช่วยจัดการ

ทั้งนี้ ยังมีข้อเสนอที่เห็นว่าเป็นประโยชน์คือ ควรมีการจัดทำกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มดิจิทัลและ e-Commerce อย่างครอบคลุม เสนอจัดประชามติหรือร่างกฎหมายใหม่เพื่อควบคุมแพลตฟอร์มใหญ่ เช่น Facebook และ Marketplace ต้องการสร้างกลไกตรวจสอบและป้องกันสินค้าปลอมที่เข้ามาผ่านแพลตฟอร์ม เพราะปัญหาที่กล่าวมาผู้ประกอบการไทยได้รับผลกระทบ เจ้าของแบรนด์และ SME ไทยได้รับผลกระทบจากสินค้าปลอมและตัดราคา ผู้ประกอบการถูกกดดันด้านราคาและโปรโมชั่นจนต้นทุนสูงขึ้น ผู้ขายที่ทำถูกต้องตามกฎหมายส่วนใหญ่ขาดทุนและไม่สามารถแข่งขันได้ อย่างไรก็ตาม การสร้างช่องทางขายของตัวเอง (own-channel) เป็นทางออกแต่ยังไม่เพียงพอหากขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

EXIM BANK ถวายพระพรชัยมงคล พระบาทสมเด็จฯ พระเจ้าอยู่หัว

EXIM BANK ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ธนาคารกรุงเทพ จัดกิจกรรม “บัวหลวงรักษ์ป่า”

ธนาคารกรุงเทพ จัดกิจกรรม “บัวหลวงรักษ์ป่า” สร้างป่าหลากสี 1,000 ต้น ฟื้นระบบนิเวศให้สมบูรณ์ เพิ่มรายได้ชุมชนยั่งยืน

กรุงไทย กำไรสุทธิครึ่งปี 2568 จำนวน 22,836  ล้านบาท

กรุงไทย กำไรสุทธิครึ่งปี 2568 จำนวน 22,836  ล้านบาท เน้นดูแลคุณภาพสินทรัพย์ เร่งช่วยลูกค้าแก้หนี้และปรับตัวอย่างยั่งยืน 

นายกฯ อุบ “ทักษิณ” ร่วมงานเลี้ยงพรรคร่วมฯ

นายกฯ อุบ “ทักษิณ” ร่วมงานเลี้ยงพรรคร่วมฯ บอกสื่อรอฟังพรุ่งนี้