คาดธุรกิจร้านอาหารปี 2568 โตแค่ 2.8% มูลค่า 646,000 ล้าน

Date:

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าแนวโน้มธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มในประเทศ ในปี 2568 คาดว่า ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 646,000 ล้านบาท เติบโต 2.8% จากปี 2567 (รูปที่ 2) ซึ่งเป็นการปรับลดจากคาดการณ์เดิมที่เติบโต 4.6% หรือมีมูลค่า 657,000 ล้านบาท

การปรับลดคาดการณ์การเติบโตของธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มมาจาก 2 ปัจจัยสำคัญ คือ

1. เศรษฐกิจไทยเติบโตชะลอลงกระทบกำลังซื้อรวมถึงค่าใช้จ่ายในร้านอาหาร แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ยังมีความไม่แน่นอนสูง สร้างความเสี่ยงต่อภาวะการมีงานทำและกำลังซื้อของผู้บริโภค ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม

2. ภาคการท่องเที่ยวที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีนี้เสี่ยงไม่เติบโต ในช่วงต้นปี 2568 ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยเผชิญกับปัจจัยลบกระทบการเติบโต สะท้อนได้จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 11 พฤษภาคม 2568 นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยหดตัว 1% (YoY) หรือมีจำนวน 12.9 ล้านคน และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ขณะที่คนไทยเที่ยวในประเทศแม้ยังมีทิศทางขยายตัวแต่จากปัจจัยเศรษฐกิจทำให้นักท่องเที่ยวบางกลุ่มระมัดระวังการใช้จ่าย

อย่างไรก็ดี ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มยังมีปัจจัยสนับสนุนจากไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่คุ้นชินกับการทานอาหารนอกบ้านและการสั่งมารับประทานมากขึ้น รวมถึงร้านอาหารและเครื่องดื่มแบรนด์ใหม่ที่เข้ามาทำตลาด การขยายสาขาของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการร้านอาหารยังได้จัดโปรโมชั่นกระตุ้นตลาดร่วมกับพันธมิตรอย่างแอปพลิเคชั่นจัดส่งอาหารไปยังที่พัก (Food Delivery Application) เพื่อเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้และกระตุ้นยอดขาย

สถานการณ์การลงทุนและเทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มในประเทศ

 ในปี 2568 ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และเล็ก (บุคคล) รวมถึงผู้ประกอบการรายใหม่ ยังให้ความสนใจเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง ร้านอาหารเอเชียโดยเฉพาะอาหารญี่ปุ่น ตลาดพรีเมียมยังเป็นตลาดที่ผู้ประกอบการให้ความสนใจ

จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2568 ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มมีการจดทะเบียนจัดตั้งกิจการใหม่ 973 ราย แม้จะลดลง 11.0% (YoY) แต่ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มเป็นธุรกิจที่มีการเปิดใหม่มากติดอันดับ 1 ใน 5 ของกิจการที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งกิจการใหม่ในทุกปี (รูปที่ 3) โดยในปี 2568 คาดว่าร้านอาหารและเครื่องดื่มทั่วประเทศจะมีจำนวนกว่า 6.9 แสนร้าน (ซึ่งยังไม่นับรวมร้านอาหารและเครื่องดื่มประเภทอื่นๆ อาทิ ร้านข้างทางที่เป็นรถเข็นไม่มีหน้าร้านหรือที่ตั้งถาวร ร้านฟู้ดทรัค และร้านรูปแบบ Ghost Kitchen ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก)

การลงทุนของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เนื่องจากเป็นพื้นที่ศักยภาพ จากข้อมูลของ LINE MAN Wongnai พบว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2568 พื้นที่กรุงเทพมหานครมีร้านอาหารเปิดใหม่เพิ่มขึ้น 4.8% จาก ณ สิ้นปี 2567 โดยพื้นที่ที่มีจำนวนร้านอาหารและเครื่องดื่มสูงส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชุมชนและที่อยู่อาศัย โดยเขตที่มีการกระจุกตัวสูงของร้านอาหารและเครื่องดื่ม 5 อันดับแรก ได้แก่ จตุจักร ปทุมวัน ประเวศ พระนคร ลาดกระบัง (รูปที่ 4) 

นอกจากนี้ จังหวัดที่มีกิจกรรมการท่องเที่ยวสูงยังเห็นการเปิดตัวของร้านอาหารและเครื่องดื่ม อาทิ ชลบุรี เชียงใหม่ และสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ศักยภาพมีทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยละต่างชาติเดินทางไปท่องเที่ยว

เนื่องจากภาวะการแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มที่สูง ทำให้การลงทุนใหม่อาจยังต้องระวัง ทั้งนี้ผู้ประกอบการมีจำนวนมาก เทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มใหม่มีผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้ผู้ประกอบการมีการปรับโมเดลการทำธุรกิจ โดยการสร้างแบรนด์ใหม่ หรือการรีแบรนด์เดิมเพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์ แต่กระนั้นก็ดี ผู้ประกอบการบางรายมีการปิดสาขาหรือร้านที่ไม่สามารถแข่งขันได้ ทั้งนี้ การแข่งขันในธุรกิจที่รุนแรงก็ทำให้เกิดการปิดกิจการจำนวนไม่น้อยเช่นกัน

เทรนด์รูปแบบการลงทุนในธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มในปี 2568 มองว่า

– ร้านอาหารและเครื่องดื่มรูปแบบร่วมสมัย หรือ Contemporary Casual กำลังเป็นที่นิยม และเป็นโมเดลร้านอาหารที่ตอบโจทย์เทรนด์สมัยใหม่ เช่น การจัดรูปแบบร้านอาหารแนวมินิมอล สร้างประสบการณ์ที่มีเอกลักษณ์ ผ่านการสร้างแบรนด์ให้สอดคล้องกับกระแสความต้องการของผู้บริโภค เช่น การนำเสนอเมนูใหม่ๆ การผสมผสานวัฒนธรรมผ่านการประยุกต์ใช้วัตถุดิบอาหารจากท้องถิ่น ในขณะที่ยังคงรักษาราคาที่เหมาะสม และมีระดับราคาที่หลากหลาย โดยกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Young Entrepreneur)  โดยกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้ากลุ่ม Gen Z

– ร้านอาหารและเครื่องดื่มแบรนด์จากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดมากขึ้น ผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงเบเกอรี่แบรนด์ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ให้ความสนใจในการเข้ามาทำตลาดและขยายสาขาในไทยมากขึ้น ทั้งรูปแบบการร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการไทยและการซื้อแฟรนไชส์เข้ามาบริหาร ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มยังได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนต่อเนื่อง โดย ไตรมาสแรกของปี 2568 มูลค่าทุนจดทะเบียนธุรกิจร้านอาหารจากชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นกว่า 542 ล้านบาท จากมูลค่าสะสม ณ สิ้นปี 2567 (รูปที่ 5) 

– ร้านอาหารกลุ่มราคาระดับกลาง-บน หรือ Premium Casual จับกลุ่มผู้บริโภคกำลังซื้อสูง โดยร้านอาหารกลุ่มนี้จะมีราคาเฉลี่ยประมาณ 500 บาทต่อจานขึ้นไป ผู้ประกอบการเปิดตัวมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงตลาด Mass และผลกระทบจากเศรษฐกิจ โดยร้านอาหารกลุ่มนี้เน้นเรื่องของคุณภาพวัตถุดิบ เทคนิคการทำอาหารที่สร้างสรรค์ และอาหารที่แปลกใหม่ กลุ่มลูกค้าทั่วไป ครอบครัวและวัยทำงานที่มองหาประสบการณ์การรับประทานอาหารคุณภาพสูงอย่างกลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่นที่เปิดตัวมากขึ้น

แนวโน้มธุรกิจร้านอาหาร

ในปี 2568 คาดว่า มูลค่าตลาดร้านอาหาร (รวมร้านอาหารประเภทร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ ร้านอาหารที่ให้บริการจำกัด และร้านอาหารข้างทางหรือ Street Food ที่มีหน้าร้าน) จะมีมูลค่ารวมประมาณ 562,000 ล้านบาท เติบโต 3.0% จากปี 2567 (รูปที่ 6) การเติบโตของร้านอาหารแต่ละรูปแบบมีปัจจัยเฉพาะที่ต่างกัน

– ร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service Restaurants) คาดว่าจะเติบโต 1.1% จากปี 2567 หรือมีมูลค่า 209,000 ล้านบาท กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ จากการที่ผู้บริโภคมีการปรับลดค่าใช้จ่ายหรือความถี่ในการทานอาหารนอกบ้าน ขณะที่กลุ่มร้านอาหารประเภทบุฟเฟต์ยังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคที่มองเรื่องความคุ้มค่า เช่นเดียวกับกลุ่มร้านอาหารประเภทอะลาคาร์ท อย่างร้านกลุ่ม Contemporary Casual Dining อาทิ ร้านอาหารญี่ปุ่น เกาหลี ไทย ตามไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป

– ร้านอาหารที่ให้บริการจำกัด (Limited Service Restaurants) คาดว่าจะเติบโต 2.7% จากปี 2567 หรือมีมูลค่า 92,000 ล้านบาท การขยายตัวจะมาจากการขยายสาขาของผู้ประกอบการอย่างกลุ่มไก่ทอดและพิซซ่า รวมถึงผู้ประกอบการที่ให้บริการในรูปแบบ Full Service ได้ปรับรูปแบบร้านอาหารมาเป็นแบบ Quick Service มากขึ้น และการจัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขายต่อเนื่อง

– ร้านอาหารข้างทาง (Street Food) ที่มีหน้าร้าน คาดว่าจะเติบโต 4.7% จากปี 2567 หรือมีมูลค่า 261,000 ล้านบาท ร้านอาหารต้นตำรับ ที่เปิดมานานมีเอกลักษณ์และยังสามารถรักษากระแสนิยม อีกทั้งเป็นเมนูพื้นฐานที่เข้าถึงได้ง่ายและราคาไม่สูง ทำให้ร้านอาหารกลุ่มนี้มีแนวโน้มเติบโตกว่ากลุ่มอื่น กอปรกับร้านอาหารแนว Street Food ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวไทยและชาวต่างชาติ รวมถึงการทำการตลาดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ช่วยหนุนร้านอาหารกลุ่มนี้

แนวโน้มธุรกิจร้านเครื่องดื่ม

        ในปี 2568 คาดว่า มูลค่าตลาดร้านเครื่องดื่ม (รวมร้านเบเกอรี่และไอศกรีม) จะมีมูลค่ารวมประมาณ 84,200 ล้านบาท เติบโต 1.9% จากปี 2567 (รูปที่ 7) การเติบโตส่วนหนึ่งมาจากการขยายสาขาของผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ และผู้ประกอบการรายเล็ก (บุคคล) ที่ยังมีการเปิดร้านใหม่ รวมถึงการขยายแฟรนไชส์ร้านเครื่องดื่มของชาวต่างชาติที่น่าจะเข้ามาทำตลาดในไทยมากขึ้น นอกจากนี้ เครื่องดื่มและเบเกอรี่ใหม่ๆ จากต่างประเทศที่เข้ามาทำตลาด มีส่วนกระตุ้นความต้องการบริโภคเครื่องดื่มและเบเกอรี่มากขึ้น รวมถึงกลุ่มเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพพรีเมี่ยมที่ได้รับความนิยม

ความเสี่ยงของธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม

– ต้นทุนการดำเนินธุรกิจมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ในปี 2568 ต้นทุนรอบด้านของธุรกิจร้านอาหารมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งค่าแรงที่มีสัดส่วนประมาณ 15% ของต้นทุน ขณะที่ค่าสาธารณูปโภคและค่าเช่ามีสัดส่วนรวมกันกว่า 20% ของต้นทุนรวม รวมถึงต้นทุนที่สำคัญ คือ

– ราคาวัตถุดิบอาหารซึ่งคิดเป็นประมาณ 35% ของต้นทุน ยังมีทิศทางผันผวนและทรงตัวสูง ในช่วงต้นปี 2568 ราคาวัตถุดิบในการประกอบอาหารหลายประเภทมีความผันผวนและมีการปรับตัวสูงขึ้น จากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงมีผลต่อผลผลิต นอกจากนี้นโยบายภาษีจากสงครามการค้าที่ทำให้ราคาสินค้าบางประเภทสูงขึ้น โดยราคาวัตถุดิบในประเทศปรับขึ้นหลายรายการ อาทิ ไข่ไก่ และเนื้อหมูสด ขณะที่กลุ่มวัตถุดิบอาหารที่ต้องนำเข้า อาทิ นมผง เนย ชีส แป้งสาลี โกโก้ และเมล็ดกาแฟ แม้จะปรับตัวลดลงจากในช่วงต้นปี 2568 แต่ราคายังผันผวนในระดับสูง  ทำให้กลุ่มร้านเครื่องดื่ม ร้านเบเกอรี่และอาหารตะวันตกจะเป็นกลุ่มได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก

– พฤติกรรมของผู้บริโภคที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม โดย 5 ปัจจัยสำคัญ  “ความแปลกใหม่+ประสบการณ์+คุณภาพ+สุขภาพ+ราคาสมเหตุสมผล” ได้กลายมาเป็นมาตรฐานใหม่ของผู้บริโภคในปัจจุบัน และเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภคที่ไม่ได้มีรูปแบบตายตัว ความจงรักภักดีต่อแบรนด์ต่ำและเปลี่ยนแปลงตามกระแสอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับรูปแบบธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ ด้วยตลาดที่เข้าง่ายแต่แข่งขันสูงจากจำนวนผู้ให้บริการที่มีมาก การรักษาผลกำไรของธุรกิจให้ได้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง จึงยังเป็นโจทย์ที่ท้าทาย 

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

TNL ปลื้มผลตอบรับหุ้นกู้ชุดใหม่ 1,000 ล้าน

TNL ปลื้มผลตอบรับหุ้นกู้ชุดใหม่ 1,000 ล้าน เดินหน้าขยาย 3 ธุรกิจหลักรองรับการเติบโตระยะยาว

ธนาคารกสิกรไทย ครึ่งปีแรก 68 กำไร 26,280 ล้านบาท

ธนาคารกสิกรไทย แจ้งผลประกอบการงวดครึ่งปีแรก ปี 68 กำไร 26,280 ล้านบาท

หนุนวิทยุการบินฯ พัฒนาซอฟต์แวร์ AEROSky

หนุน วิทยุการบินฯ พัฒนาซอฟต์แวร์ AEROSky เชื่อมต่อระบบขออนุญาตบินโดรน บริการจัดการห้วงอากาศ เพิ่มความปลอดภัยทางการบิน

“สุริยะ” ขอบคุณ ผู้ว่า กทม. หนุน รถไฟฟ้า 20 บาท

"สุริยะ" ขอบคุณ ผู้ว่า กทม. หนุน รถไฟฟ้า 20 บาท ให้ใช้ทัน 1 ต.ค.นี้  รฟม. พร้อมใช้ชดเชยส่วนต่างของรายได้ค่าโดยสาร