
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB (EIC) ประเมินว่า มูลค่าส่งออกสินค้าไทยเดือน เม.ย. 2025 โต 10.2%YOY อยู่ที่ 25,625.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าที่ประเมินไว้ (SCB EIC ประเมิน 5.3% และค่ากลาง Reuter Poll 10%) ส่งออกไทยเดือนนี้ขยายตัวดีต่อเนื่องจาก 15.2%ในไตรมาส 1 ส่งผลให้ภาพรวมมูลค่าส่งออกไทยช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัว 14% ทั้งนี้หากพิจารณาการส่งออกปรับฤดูกาลพบว่าหดตัว -1.9%MOM_SA สะท้อนการชะลอตัวลงมากจากเดือนก่อนหน้า
SCB EIC ประเมินส่งออกไทยเดือนนี้ยังได้อานิสงส์จากการเร่งส่งออกไปสหรัฐฯ แม้สหรัฐฯ เริ่มเก็บ Universal tariff 10% ขั้นต่ำเกือบทุกประเทศไปแล้วเมื่อวันที่ 9 เม.ย. และเก็บภาษีเฉพาะเจาะจงสินค้า (Specific tariff) 25% แล้ว ได้แก่ ยานยนต์ เหล็กและอะลูมิเนียม แต่สำหรับภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal tariff) ที่จะเก็บเพิ่มจากอัตราขั้นต่ำ 10% นี้ สหรัฐฯ เลื่อนไป 90 วันเป็นวันที่ 9 ก.ค. และยังไม่เริ่มเก็บ Specific tariff สินค้าเกษตรและสินค้าเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มเติม จึงยังเห็นการเร่งส่งออกไปสหรัฐฯ ก่อนชุดกำแพงภาษีทั้งหมดจะเริ่มมีผลจริง
การส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ในเดือนนี้จึงยังขยายตัวได้มากถึง 23.8%YOY ต่อเนื่องจาก 34.3% ในเดือนก่อน โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวถึง 29.9% ขณะที่การส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบไปสหรัฐฯ เริ่มหดตัวในเดือนนี้ที่ -3.8% (รูปที่ 3 ซ้าย) สำหรับการส่งออกเหล็กฯ แม้ยังขยายตัวได้ 13.8% แต่มีความเสี่ยงที่จะส่งออกได้ลดลงในระยะข้างหน้า ทั้งนี้การส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ของไทยไปสหรัฐฯ มีสัดส่วน 38.3% ของการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ทั้งหมด
ขณะที่การส่งออกสินค้ากลุ่มรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และสินค้ากลุ่มเหล็กฯ มีสัดส่วนแค่ 3.4% และ 2.2% ตามลำดับ นอกจากนี้ การส่งออกไปสหรัฐฯ ที่ขยายตัวดีในเดือนนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการส่งออกอาวุธ กระสุน และส่วนประกอบที่สูงมากผิดปกติ 1,925,055.6% ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยชั่วคราวไม่ได้สะท้อนภาพการส่งออกไทยที่แท้จริง
แนวโน้มการเร่งส่งออกส่งออกไปสหรัฐฯ ของไทยคล้ายประเทศอื่น โดยการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไปสหรัฐฯ ของญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, เวียดนาม และไต้หวันก็ขยายตัวดีมากเช่นกัน ขณะที่การส่งออกเหล็ก ยานยนต์ และส่วนประกอบของยานยนต์หดตัวสูงในเดือน เม.ย. (ข้อมูลเร็ว 20 วันแรกเดือน พ.ค. ของเกาหลีใต้ก็สะท้อนภาพนี้เช่นกัน) (รูปที่ 3 ซ้าย) สะท้อนว่า นโยบายกำแพงภาษีของสหรัฐฯ กระทบการส่งออกแต่ละประเทศแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับโครงสร้างสินค้าส่งออก หากประเทศใดเน้นพึ่งพาสินค้าที่โดนตั้งกำแพงภาษีสูงแล้ว เช่น สินค้ากลุ่มยานยนต์และกลุ่มเหล็ก (25%) อาจเห็นส่งออกถูกกระทบแรง เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งพึ่งพาการส่งออกรถยนต์ไปสหรัฐฯ สูงที่ 36.0% และ 33.5% ของการส่งออกไปสหรัฐฯ ทั้งหมด ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าที่ยังไม่ถูกสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีสูง เช่น อิเล็กทรอนิกส์ การส่งออกจะยังขยายตัวดี เช่น ไต้หวัน และเวียดนาม ที่ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไปสหรัฐฯ สูงถึง 79% และ 50.4% ของมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ ทั้งหมด ขณะที่สัดส่วนพึ่งพาการส่งออกยานยนต์และเหล็กต่ำ
ทองคำยังเป็นปัจจัยหนุนการส่งออกที่สำคัญในเดือนนี้ แต่แรงส่งประเด็นพิเศษทองคำที่เคยช่วยให้การส่งออกไทยโตดีในช่วงที่ผ่านมากลับลดลงมาก โดยการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปยังคงขยายตัวสูงมากถึง 250.5% ต่อเนื่องจาก 269.5% ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นผลจากความต้องการทองคำในตลาดโลกเพื่อรองรับความเสี่ยงที่สูงขึ้น รวมถึงปัจจัยราคาทองคำที่เพิ่มขึ้นมาก สำหรับแรงส่งประเด็นพิเศษจากการส่งออกสินค้ากลุ่มโลหะมีค่าฯ ซึ่ง SCB EIC ประเมินว่าเกือบทั้งหมดเป็นการส่งออกทองคำผสมแพลทินัมในสัดส่วนน้อยไปตลาดอินเดียเพื่อประโยชน์ทางภาษีของผู้นำเข้าอินเดีย[1] ปัจจัยพิเศษนี้มีสัญญาณแผ่วลงชัดเจน มูลค่าส่งออกลดเหลือเพียง 113 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสูงสุดในเดือน ก.พ. ที่ 1,269.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดุลการค้าหดตัวแรงที่สุดในรอบกว่า 2 ปี ตามการเร่งนำเข้าสินค้าทุนจากจีนมูลค่าการนำเข้าสินค้าเดือน เม.ย. อยู่ที่ 28,946.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 16.1% สูงกว่าที่ประเมินไว้(SCB EIC ประเมิน 8.5% และค่ากลาง Reuter Poll 7.9%) เร่งขึ้นจาก 10.2% ในเดือนก่อน โดยมูลค่านำเข้าไทยเติบโตต่อเนื่องนาน 10 เดือนแล้ว ทั้งนี้การนำเข้า (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวสูง 14.5% ในเกือบทุกหมวด ได้แก่ สินค้าทุน สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (รวมทองคำ) อาวุธและยุทธปัจจัย สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าเชื้อเพลิง ขยายตัว 27.5% (โดยเฉพาะนำเข้าจากจีนที่โตถึง 38.8%), 17.4%, 16.1%, 11.9% และ 1.7% ตามลำดับ มียานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่งที่นำเข้าลดลง -0.6% โดยหดตัว 3 เดือนติดต่อกัน ดุลการค้าไทย (ระบบศุลกากร) ในเดือนนี้ขาดดุล -3,321.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ในช่วง 4 เดือนของปี 2025 ดุลการค้าขาดดุลสะสม -2,240.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ SCB EIC มีข้อสังเกตว่า ไทยนำเข้าจากจีนเร่งตัวขึ้นในเดือน เม.ย. อาจเป็นผลจากการเปลี่ยนเส้นทางการค้าของจีนเพื่อหลีกเลี่ยงกำแพงภาษีสหรัฐฯ มูลค่าการส่งออกและนำเข้าของจีนกับสหรัฐฯ ในเดือน เม.ย. หดตัวมาก -21.0% และ -13.8% ตามลำดับ ผลจากการตั้งอัตราภาษีตอบโต้ระหว่างกันสูงเกิน 100% อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกจีนโดยรวมกลับยังขยายตัวดี 7.9% โดยจีนสามารถขยายการส่งออกไปภูมิภาคอื่น ๆ ได้ โดยเฉพาะตลาดอาเซียนที่ขยายตัวถึง 20.8% (ส่งออกมาไทยโต 27.9%) ตัวเลขนี้สะท้อนภาพจีนระบายสินค้าส่งออกไปทั่วโลกด้วยความได้เปรียบด้านต้นทุนและขนาด กระทบความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทย นอกจากนี้ หากปัญหาสินค้าจีนระบายเข้าตลาดในประเทศมีส่วนที่บริษัทจีนนำเข้าเพื่อผลิตหรือประกอบ แล้วส่งออกผ่านไทยไปสหรัฐฯ เพื่อเลี่ยงภาษีนำเข้าสูง (ปัญหาสินค้าจีนสวมสิทธิ์) อาจส่งผลให้ไทยเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ได้ยากขึ้น เนื่องจากสหรัฐฯ ติดตามประเด็นนี้ใกล้ชิด
SCB EIC มองส่งออกไทยจะชะลอลงในไตรมาสที่ 2 และหดตัวในช่วงครึ่งหลังของปี
SCB EIC มองว่า แม้การส่งออกไทยเดือน เม.ย. จะขยายตัวดี แต่การส่งออกในช่วงที่เหลือของปีจะชะลอลงมาก โดยเฉพาะช่วงครึ่งหลังของปีอาจหดตัว เนื่องจาก 1) ผลกระทบจากกำแพงภาษีของสหรัฐฯ เริ่มชัดขึ้น สะท้อนจากข้อมูลส่งออกของจีน, เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นไปสหรัฐฯ ที่เริ่มหดตัวแล้ว เป็นสัญญาณว่าหากหมดช่วงที่สหรัฐฯ ชะลอการเก็บ Reciprocal tariffs ชั่วคราว 90 วัน และเริ่มเก็บภาษี Specific tariffs ครบทุกรายการ การค้าโลกกับสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มแย่ลง (รูปที่ 3) 2) การผลิตโลกมีแนวโน้มชะลอลงอีก โดยเฉพาะการผลิตที่เชื่อมโยงกับการค้าระหว่างประเทศ สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) บางองค์ประกอบ เช่น คำสั่งซื้อใหม่เพื่อการส่งออกหดตัวแรง และปริมาณงานค้างหดตัวต่อเนื่อง และ 3) ปัจจัยหนุนหลักของการส่งออกที่เคยเห็นในไตรมาส 1 เริ่มหมด เช่น วัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์, การเร่งส่งออก และปัจจัยทองพิเศษ
SCB EIC มองว่าข้อตกลงลดภาษีตอบโต้ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ชั่วคราว สะท้อนความจำเป็นที่ไทยต้องเร่งเจรจากับสหรัฐฯ ให้สำเร็จภายใน 90 วัน ในวันที่ 12 พ.ค. จีนและสหรัฐฯ มีข้อตกลงลดภาษีตอบโต้ระหว่างกันลง 115% นาน 90 วัน (เริ่ม 14 พ.ค. – 12 ส.ค.) โดยจีนจะตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ที่ 10% ลดจาก 125% ขณะที่สหรัฐฯ จะตั้งกำแพงภาษีจีนที่ 30% ลดจาก 145% แต่ยังคงเก็บ Specific tariffs สินค้าเหล็ก อะลูมิเนียม และยานยนต์จากจีนที่ 25% อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงลดเลื่อนเก็บภาษีตอบโต้ชั่วคราวของสหรัฐฯ กับประเทศทั่วโลกกำลังสิ้นสุดในวันที่ 9 ก.ค. นี้ อาจส่งผลให้ประเทศที่ไม่สามารถเจราจากับสหรัฐฯ ได้ถูกตั้งกำแพงภาษีรุนแรงตามที่สหรัฐฯ ประกาศไว้เมื่อวันที่ 2 เม.ย. โดยเฉพาะหลายประเทศในอาเซียนที่เสี่ยงถูกตั้งกำแพงตอบโต้สูงกว่าจีน เช่น กัมพูชา, เวียดนาม และไทย ที่อัตราสูงสุด 49%, 46% และ 36% ตามลำดับ
SCB EIC มองว่าข้อตกลงลดภาษีตอบโต้ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ชั่วคราว และความคืบหน้าของการเจราจาการค้าของไทยกับสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่อส่งออกไทยได้ เพราะจะมีผลต่อความได้เปรียบหรือเสียเปรียบด้านราคาในตลาดสหรัฐฯ บนอัตราภาษีนำเข้าที่จะถูกจัดเก็บไม่เท่ากัน
ดังนั้น ผลการเจรจาการค้าของไทยกับสหรัฐฯ ให้สำเร็จภายใน 90 วันจึงเป็นเรื่องสำคัญมากต่อแนวโน้มการส่งออกไทยในช่วงครึ่งหลังของปี ทั้งนี้ในงานแถลงข้อมูลเดือน เม.ย. กระทรวงพาณิชย์แสดงความมั่นใจว่า ไทยมีความพร้อมในการเจรจากับสหรัฐฯ ให้สำเร็จภายใน 90 วัน โดยจะต่อรองให้อัตราภาษีตอบโต้ของไทยลดลงมาใกล้เคียงกับอัตราที่ประเทศคู่แข่งต่อรองได้ ในการเจรจาเบื้องต้นกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ที่ผ่านมามีทิศทางดี โดยสหรัฐ มองว่าไทยยื่นข้อเสนอที่ดี นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังกล่าวถึงความพยายามที่จะเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรปให้สำเร็จภายในปีนี้เพื่อเพิ่มโอกาสให้ตลาดส่งออกไทยอีกทางหนึ่ง
บทวิเคราะห์โดย… https://www.scbeic.com/th/detail/product/trade-260525