
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ประกาศความพร้อมในการนำหุ้น “THAI” กลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกครั้งในวันที่ 4 สิงหาคม 2568 หลังศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา จากการประสบความสำเร็จในการดำเนินการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งได้พลิกโฉมองค์กรสู่การเป็นบริษัทเอกชนที่พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ถือหุ้น และนักลงทุน ด้วยผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและกลยุทธ์ในการสร้างการเติบโตในอนาคตที่ชัดเจน พร้อมที่จะทะยานสู่บทบาทหนี่งในผู้นำในอุตสาหกรรมการบินระดับภูมิภาค ตลอดจนการเป็นหนึ่งในบริษัทจดทะเบียนชั้นนำที่มีคุณภาพของตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกครั้ง

มุ่งมั่นนำ การบินไทย ก้าวสู่ยุคใหม่ สายการบินที่เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพ
นายลวรณ แสงสนิท ประธานกรรมการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในนามของคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่มีความมุ่งมั่นเพื่อนำการบินไทยก้าวสู่ยุคใหม่แห่งการเป็นสายการบินที่เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพ และถึงพร้อมด้วยธรรมาภิบาลในการบริหารงานแบบองค์กรเอกชน คณะกรรมการชุดนี้มีความพร้อมทั้งในด้านองค์ความรู้ และวิสัยทัศน์ที่จะร่วมผลักดันองค์กรให้เดินหน้าต่อไปอย่างมั่นใจ โดยได้รวมผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐและเอกชน
โดยคณะกรรมการชุดใหม่ประกอบด้วยกรรมการ 11 ท่าน ซึ่งจำนวน 3 ท่าน เป็นกรรมการของบริษัทตั้งแต่ในช่วงก่อนเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ และกรรมการสองในสามท่านดังกล่าวยังเป็นอดีตผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ตลอดจนประกอบด้วยกรรมการเข้าใหม่ 8 ท่านที่ได้รับการแต่งตั้งโดยผู้ถือหุ้นผ่านการพิจารณาตาม Board Skills Matrix เพื่อให้ครอบคลุมความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ อาทิ ธุรกิจการบิน การเงิน กฎหมาย กลยุทธ์ การตลาด และเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมด้วยคณะกรรมการชุดย่อย ได้แก่ คณะกรรรมการตรวจสอบและคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน เพื่อดูแลทุกมิติ
โดยเชื่อว่าคณะกรรมการและฝ่ายบริหารพร้อมร่วมทำงานสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยยังคงมีทีมผู้บริหารจากในช่วงกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งช่วยให้สามารถสานต่อการดำเนินงานของการบินไทยได้อย่างมั่นคง สถานะของบริษัทในวันนี้ถือได้ว่าอยู่ในจุดที่ดีที่สุดในทุกๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นสถานะทางการเงิน ประสิทธิภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขัน
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีความชัดเจนอย่างยิ่งในเรื่องของทิศทางการเจริญเติบโต และยุทธศาสตร์ที่จะใช้ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างองค์กรที่วันนี้ ไม่เพียงแต่ขนาดและความซับซ้อนที่เหมาะสมต่อขนาดธุรกิจ ค่าใช้จ่ายบุคลากรที่อยู่ในระดับที่มีประสิทธิภาพไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสายการบินชั้นนำในระดับเดียวกัน แต่ยังมีความยืดหยุ่น และสามารถเปลี่ยนแปลงตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมได้อย่างรวดเร็ว
พร้อมทั้งให้ความสำคัญในการส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดี ตามแนวทางของตลาดหลักทรัพย์ และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำหรับมิติด้านสิ่งแวดล้อม การบินไทยในฐานะผู้ประกอบการสายการบินมุ่งมั่นที่จะลดผลกระทบในการทำธุรกิจที่มีต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2608 (ค.ศ. 2065)
ทั้งนี้ มีเป้าหมายในการนำพาองค์กรเพื่อต่อยอดความสำเร็จจากการฟื้นฟูกิจการที่ผ่านมาให้ก้าวไปสู่รากฐานที่มั่นคงสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการเป็นองค์กรที่โปร่งใส มีหลักการธรรมาภิบาลที่ดี ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนในระยะยาว

การบินไทย กลับมาเข้มแข็งกว่าเดิม
ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการและอดีตประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า การบินไทยได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการและบรรลุครบถ้วนทุกเงื่อนไขอันเป็นผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูฯ ภายในระยะเวลาเพียง 4 ปี นับตั้งแต่ศาลล้มละลายกลางเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการในปี 2564 โดยผลประกอบการที่เติบโตอย่างโดดเด่นต่อเนื่อง สะท้อนถึงความสำเร็จของกระบวนการฟื้นฟูกิจการอย่างชัดเจน โดยในปี 2567 การบินไทยสามารถสร้างกำไรจากการดำเนินงาน (ก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) สูงถึง 41,515 ล้านบาท และยังคงรักษาโมเมนตัมการเติบโตอย่างต่อเนื่องซึ่งเห็นได้จากในไตรมาส 1 ปี 2568 การบินไทยมีกำไรจากการดำเนินงาน (ก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 13,661 ล้านบาท หรือคิดเป็น EBIT margin สูงที่สุดในกลุ่มสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full-Service) ในเอเชียแปซิฟิกและยุโรปที่ 26.5% (แหล่งที่มาจาก Airline Weekly) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการที่ยอดเยี่ยม และที่สำคัญคือ เรามีคณะกรรมการชุดใหม่ที่ได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์หลากหลาย ซึ่งจะขับเคลื่อนองค์กร เพื่อสร้างการเติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน โปร่งใส และแข่งขันได้ในระดับโลก นี่คือการบินไทยในโครงสร้างใหม่ที่แข็งแกร่ง พร้อมทะยานสู่ความสำเร็จในระยะยาว
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงภาพรวมกลยุทธ์การเติบโตของการบินไทยว่า อัตราการเติบโตที่เราเห็นในปัจจุบันไม่ใช่เป็นเพียงการฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด-19 แต่เป็นแรงขับเคลื่อนที่มาจากโครงสร้างหลากหลายด้านและการวางกลยุทธ์ระยะยาวอย่างชัดเจน อาทิ (1) การปรับโครงสร้างและขนาดองค์กรให้มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนการเพิ่มความโปร่งใสในทุกกระบวนการดำเนินงาน สามารถตรวจสอบได้ (2) การปรับโครงสร้างฝูงบินและจำนวนเครื่องบินให้มีประสิทธิภาพโดยตั้งเป้าหมายว่าจะมีเครื่องบินจำนวน 150 ลำในปี 2576 ซึ่งลดจำนวนแบบเครื่องบินจาก 8 แบบก่อนเข้าแผนฟื้นฟูกิจการเหลือเพียง 4 แบบ และลดจำนวนเครื่องยนต์จาก 9 แบบเหลือ 5 แบบส่งผลให้สามารถควบคุมต้นทุนในการดำเนินงานและซ่อมบำรุงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดจากปัจจุบันที่ 26% เป็น 35% ภายในปี 2572 เหมือนที่เคยทำได้ในอดีตที่ผ่านมา (3) การขยายเส้นทางและความถี่ในการบินเพื่อมุ่งสู่การเป็น regional network airline เชื่อมต่อระดับภูมิภาคและระหว่างทวีป (4) การปรับปรุงบริการห้องโดยสารและช่องทางการขายเพื่อยกระดับความพึงพอใจของลูกค้า (5) การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในทุกกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพซึ่งรวมถึงอย่างเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันเพื่อให้ใช้งานสะดวกมากยิ่งขึ้น และสร้างโอกาสในการเพิ่มสัดส่วนรายได้จาก ช่องทางการขายตรง เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้คือปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ทำให้การบินไทยพร้อมสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืนและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเพื่อให้การบินไทยก้าวสู่การเป็นหนึ่งในผู้นำในอุตสาหกรรมการบินระดับภูมิภาคอย่างแข็งแกร่งในอนาคต
นางเฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความแข็งแกร่งของฐานะทางการเงินในปัจจุบันว่า “สถานะทางการเงินของการบินไทยในวันนี้มีความแข็งแกร่งและมั่นคงกว่าเดิมมาก ซึ่งสะท้อนจากความสามารถในการทำกำไรจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
ผลการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 บริษัทฯ มีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 187,989 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 41,515 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรากำไร (EBIT Margin) 22.1% และในไตรมาสที่ 1 ปี 2568 มีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 51,625 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.3% กำไรจากการดำเนินงาน (ก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 13,661 ล้านบาท อัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เท่ากับ 83.3% และ อัตราผลตอบแทนต่อผู้โดยสาร (Passenger Yield) เท่ากับ 2.91 ใกล้เคียงกับปีก่อน และความสำเร็จจากการแปลงหนี้และดอกเบี้ยตั้งพักของเจ้าหนี้เป็นทุนกว่า 53,453 ล้านบาท และเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการฟื้นฟูกิจการและพนักงานของบริษัทฯกว่า 22,987 ล้านบาท ในปี 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568 กลับเป็นบวกที่ 55,439 ล้านบาท จากเดิมที่ติดลบเป็นจำนวน 43,142 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 และสามารถลดอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (IBD/E Ratio) เหลือเพียง 2.2 เท่า จาก 12.5 เท่า ในปี 2562 ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงสถานะทางการเงินที่มั่นคง โดยไม่มีการปรับโครงสร้างหนี้ด้วยการลดยอดหนี้ลง (Hair Cut) ในส่วนหนี้เงินต้นของเจ้าหนี้ทางการเงินและเจ้าหนี้การค้า ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ของการบินไทย โดยมีกำหนดคืนหนี้ชัดเจนแล้วตามแผนฟื้นฟูกิจการจนถึงปี 2579 ความสำเร็จนี้เป็นผลจากการทำงานอย่างหนัก วินัยทางการเงินที่เข้มงวด ตลอดจนความร่วมมือจากเจ้าหนี้พนักงานการบินไทยทุกคนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน”