
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งที่ 4/2568 โดยมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง นายฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์ รมช.พาณิชย์ หัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายภูมิธรรม กล่าวก่อนการประชุมว่า เศรษฐกิจไทยประสบปัญหาเรื่องการขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าศักยภาพ และสัดส่วนการลงทุนของภาครัฐและเอกชนเมื่อเทียบ กับ GDP อยู่ในระดับต่ำทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน จึงจำเป็นต้องแก้ไข ปัญหาโดยเร่งด่วน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งได้อีกครั้ง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบข้อเสนอโครงการ/รายการกระตุ้นเศรษฐกิจตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้วงเงิน 157,000 ล้านบาท
“งบประมาณถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการแก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะผลการเจรจาเรื่องภาษีตอบโต้กับสหรัฐฯ วันนี้ขอให้คณะกรรมการร่วมกันทบทวนและพิจารณาข้อเสนอโครงการตามมติที่ประชุมของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรอบคอบ และสอดคล้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อให้งบประมาณในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เกิดประโยชน์เต็มที่ต่อระบบเศรษฐกิจบรรเทาผลกระทบจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กัน” รองนายกรัฐมนตรีกล่าว
ด้านนางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมฯรับทราบมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.68 เรื่อง ข้อเสนอโครงการ/รายการกระตุ้นเศรษฐกิจตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท พร้อมทั้งรายงานความคืบหน้าการขอรับจัดสรรและผลการอนุมัติจัดสรรโครงการ/รายการตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.68 ซึ่งสามารถติดตามความก้าวหน้าของการจัดสรรงบประมาณโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท ผ่านทางเว็บไซต์ https://www.bb.go.th/peoplewatch/ ได้โดยตรง หรือเว็บไซต์สำนักงบประมาณ https://www.bb.go.th/
“นโยบายภาษีแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หลักการและแนวทางการทบทวนโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงต้องคำนึงถึงเหตุผลด้านเศรษฐกิจ การตรวจสอบ และให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้ผลกระทบ และการพัฒนาทุนมนุษย์ เพื่อตอบโจทย์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในอนาคต” นางสาวศศิกานต์ กล่าว