
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว “กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ” หรือ Aerospace Industry Club กลุ่มอุตสาหกรรมลำดับที่ 47 ภายใต้ ส.อ.ท. พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจความสามารถพิเศษต้นแบบ “Aerospace Valley” เพื่อผลักดันไทยสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมการบินและอวกาศในภูมิภาค ณ ห้อง Ballroom 2 โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ
ภายในงาน ได้รับเกียรติจากนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวถึงอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ โอกาสใหม่ของไทย สู่เศรษฐกิจมูลค่าสูง และดร.อนุกูล แต้มประเสริฐ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ส.อ.ท. กล่าวถึงที่มา และความสำคัญของอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ
กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ นับเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมลำดับที่ 47 ภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการให้ความรู้ทางด้านต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น รูปแบบอากาศยาน ความต้องการใช้ประเภทต่างๆ เทคโนโลยีการเดินอากาศและการควบคุมนำทางการพัฒนา Advanced Air Mobility (AAM) และการจัดการ Airspace Integration เพื่อให้เกิดการใช้งานห้วงอากาศที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับการเดินอากาศสมัยใหม่

ขณะนี้ ประเทศไทยได้เริ่มเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดให้บริการด้านนี้อย่างเป็นรูปธรรมในอีก 3–5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเป็นการพลิกโฉมการใช้ห้วงอากาศของไทยในรูปแบบใหม่ ด้วยการผสานนวัตกรรมการบินอัจฉริยะเข้ากับการพัฒนาเมืองเศรษฐกิจการบิน (Aeropolis) สอดคล้องกับรูปแบบเมืองและผังเมืองสมัยใหม่ เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงระบบการเดินทางทางอากาศ บก ราง และน้ำได้อย่างไร้รอยต่อ
พร้อมกันนี้ ยังผลักดันให้เกิดกลุ่มผู้ประกอบการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ตั้งแต่การออกแบบ ผลิต สื่อสาร โทรคมนาคม ดาวเทียม ระบบสารสนเทศ ดิจิทัล AI Big Data รวมถึงการใช้ Open Source Software เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทุกพื้นที่ และมีต้นทุนที่คุ้มค่า
การพัฒนาในครั้งนี้ ยังมุ่งเชื่อมโยงผู้ประกอบการไปสู่ Cluster อุตสาหกรรมที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน พัฒนา Use Cases ที่หลากหลาย โดยใช้กรณีศึกษาจากต่างประเทศเป็นต้นแบบ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลง (Disruption) ในอนาคต อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการร่วมพัฒนา Talent ทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ รองรับ Business Model และ Startup ใหม่ๆ ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างยั่งยืน
พลอากาศเอก มนัท ชวนะประยูร ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) กล่าวว่า สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยมีวิสัยทัศน์ที่มุ่งมั่นจะเป็นผู้นำด้านการกำกับดูแลความปลอดภัยและมาตรฐานการบินพลเรือนในระดับสากล เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ พร้อมเชื่อมโยงประเทศไทยสู่ประชาคมโลกอย่างมั่นคงและปลอดภัย ด้วยพันธกิจหลักในการกำกับดูแลและส่งเสริมการบินพลเรือนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล สร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยและความมั่นคงของการบิน รวมถึงพัฒนาระบบการบินพลเรือนให้ทันสมัยและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชน
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ถือเป็นโอกาสใหม่ที่สำคัญของประเทศไทยในการก้าวสู่เศรษฐกิจมูลค่าสูง เนื่องจากอุตสาหกรรมการบินเป็นหนึ่งในกลไกหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก โดยคาดว่าตลาดอุตสาหกรรมการบินและอวกาศทั่วโลกจะสูงถึง 1.08 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2571 โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงประเทศไทย มีแนวโน้มการเติบโตที่รวดเร็วที่สุด และคาดว่าจะกลายเป็นตลาดการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลกภายในปี 2583 ส่งผลให้ความต้องการด้านการซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) และบุคลากรด้านการบินเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

เพื่อรองรับโอกาสนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจึงได้จัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ให้สอดคล้องตามนโยบาย “4 GO” (GO Digital & AI, GO Innovation, GO Global, GO Green) โดย GO Digital & AI นำปัญญาประดิษฐ์และระบบดิจิทัลมาใช้ในการออกแบบ ควบคุมการจราจรทางอากาศ และการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ GO Innovation ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการบินขั้นสูง GO Global เชื่อมโยงเครือข่ายไปสู่ระดับสากล และ GO Green พัฒนาและใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) ที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงถึง 80%
ทั้งนี้ ความร่วมมือภายใต้บันทึกข้อตกลงโครงการ “Aerospace Valley” ถือเป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีการบินและอวกาศ เพื่อยกระดับศักยภาพของไทยให้ก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางด้าน Aviation & Aerospace Hub ในภูมิภาคและเวทีโลกได้อย่างมั่นคง
“โอกาสนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรม S – Curve และ New S-Curve ที่เน้นการสร้างมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ควบคู่ไปกับความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน” นายเกรียงไกร กล่าวทิ้งท้าย