ภาครัฐจับมือเอกชนถกแผนพลังงานชาติฉบับใหม่

Date:

การจัดงานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีทางด้านพลังงานและงานประชุมระดับผู้นำแห่งเอเชีย ที่ได้เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 และจัดอย่างต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 22 กันยายน 2565 ณ ศูนย์ประชุมและนิทรรศการไบเทค บางนา Hall 100-104 นั้น ในวันที่ 21 ก.ย. ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการจัดงาน มีเวทีเสวนาที่น่าสนใจหลายเวที โดยเฉพาะงานเสวนาพิเศษ “ผ่านแผนนโยบายพลังงาน ทั้ง 4 ด้าน ไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน พลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งเป็นเวทีที่จัดขึ้นโดย SETA 2022 และ Solar + Storage Asia 2022 ถือเป็นงานที่ได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานอย่างมากเพราะเป็นการแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับแผนพลังงานฉบับใหม่ที่แรก ชูไฮไลต์แผนใหม่ให้ความสำคัญพลังงานสะอาด ยึดตามเทรนด์โลกเพื่อเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ และให้ประชาชนมีส่วนขายไฟฟ้าได้

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า แผนพลังงานฉบับใหม่น่าจะเสร็จสมบูรณ์ในช่วงปลายปี เพื่อให้สามารถประกาศใช้ในปีหน้า โดยระหว่างนี้จะต้องผ่านการเปิดรับฟังความเห็นประชาชนก่อน สำหรับความแตกต่างของแผนพลังงานฉบับใหม่ที่ต่างจากฉบับเดิมคือ ฉบับเดิมภาครัฐจะทำหน้าที่จัดหาพลังงานให้ประชาชน แต่แผนฉบับใหม่ ประชาชนจะสามารถเป็นผู้ขายพลังงานได้เช่นกัน ซึ่งเป็นการพัฒนาจากเทคโนโลยีใหม่ นวัตกรรมใหม่ จากพลังงานทดแทนที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและขายไฟฟ้าได้ ในอนาคตโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จะไม่สำคัญอีกต่อไป โรงไฟฟ้าขนาดเล็กจะมีมากขึ้นจะกระจายออกไป อย่างไรก็ดีแผนพลังงานฉบับใหม่นี้จะมีเรื่องของพลังงานทดแทนซึ่งก็ต้องศึกษาผลกระทบการใช้ของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เริ่มหันไปใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) หากในอนาคตมีการใช้แพร่หลายขึ้น ก็ต้องหาทางแกป้ญหาจาชาร์จ EV ตอนกลางคืน เพราะพฤติกรรมผู้ใช้ EV จะชาร์จในเวลากลางคืนเป็นส่วนใหญ่ แต่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ช่วงกลางคืนอาจไม่เพียงพอ

ด้านนายวัชรินทร์ บุญฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สถานการณ์พลังงานบีบคั้นให้ต้องหันไปเร่งใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น ภาพรวมการใช้พลังงานของประเทศ สองส่วนหลักที่ใช้มากที่สุด คือภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่ง รองลงมาคือภาคธุรกิจ และภาคที่อยู่อาศัย ปัจจุบันพลังงานหลักที่ใช้คือพลังงานฟอสซิล ปีที่ผ่านมาสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนคิดเป็น 14% ของทั้งหมด ซึ่งลดลงจากก่อนการระบาดของโควิด 19 ที่อยู่ประมาณใช้ 17-18% ดังนั้นแผนการใช้พลังงานทดแทน จะต้องควบคู่ไปกับแผนการเพิ่มประสิทธิภพการใช้พลังงาน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่กินพลังงานถึง 30-40% ด้วยการลดการปล่อยคาร์บอนจากห่วงโซ่อุปทานของคู่ค้า ส่วนภาคขนส่ง สามารถทำระบบบริหารจัดการโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพ เช่น การนำ EV มาใช้ในรถบรรทุก เป็นต้น

ขณะที่นางสาวจิตตมา มัณฑะจิตร ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในส่วนของแผนการดูแลการใช้พลังงานธรรมชาติถือเป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญในแผนพลังงานชาติ แม้ว่าปัจจุบันแหล่งก๊าซมีแนวโน้มลดลง แต่ประเทศไทยมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นเพียง 0.7% ส่วนแผนฉบับใหม่มั่นใจว่ากรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะผลิตแกสและบริหารทรัพยากรในประเทศให้มีประสิทธิภาพสูงสุด กำกับดูแลให้ภาคเอกชนผลิตได้ตามสัญญา ล่าสุดได้ทำการเปิดประมูลแปลงใหม่ 3 แปลง ประมาณการเงินลงทุน 1,500 ล้านบาท ซึ่งจะเพียงพอต่อความต้องการ

นายกัลย์ แสงเรือง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) กล่าวว่าแผนพลังงานชาติมีหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อให้ราคาเป็นไปอย่างเหมาะสม ทิศทางการกำกับพลังงาน เป็นไปตามกรอบระดับนานาชาติคือ COP 26 ส่วนแผน 5 ปีจะส่งเสริมกิจการพลังงานให้มีการแข่งขันมากขึ้น ส่งเสริมให้เกิดพลังงานสีเขียว พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้เกิดการเข้าถึงทุกภาคส่วน เกิดการรวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วน ดูแลให้การจัดหาพลังงานมีเพียงพอ แม้ว่าปัจจุบันแหล่งที่มาของพลังงานจะมีความซับซ้อนมาขึ้น โดยเฉพาะพลังงานทดแทนซึ่งเป็นพลังงานที่ไม่สม่ำเสมอ แต่ก็มีแนวทางในการแก้ไข เช่น การนำเอาแบตเตอรี่ หรือระบบกักเก็บพลังงานเข้ามาใช้ก็จะช่วยให้ใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางคืนได้ อีกทั้งจะเน้นการจูงใจที่จะทำให้เกิดการลดการปล่อยคาร์บอน ต้องทำให้พลังงานสะอาดมีมูลค่า ส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์มีต้นทุนต่ำลง ซึ่งจะทำให้เกิดโมเดลการขายไฟฟ้ามากขึ้นของครัวเรือนมากขึ้น นอกจากนี้การเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจที่มีความพร้อมในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาทดลองขายไฟฟ้าผ่านกริดไปให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ทำสัญญาไว้ได้ โดยภาครัฐต้องลดระเบียบหรือเพิ่มกติกาบางอย่างเพื่อให้เหมาะสม

นายอาทิตย์ เวชกิจ รองประธานกลุ่มพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นตัวแทนภาคเอกชน ภาคประชาชน ได้ทำแผนพลังงานชาติในส่วนของตนเองเสร็จเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมใช้พลังงานจำนวนมาก ดังนั้นการปรับแผนการใช้พลังงานในภาคนี้จึงสำคัญมาก เพราะปัจจุบันบริษัทต่างชาติหลายแห่งมีนโยบายว่า ผลิตภัณฑ์ของบริษัทจะต้องมีกระบวนการผลิตสีเขียว ดังนั้นหากประเทศไทยไม่สามารถทำการใช้พลังงานไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ได้ตามเป้าหมาย ก็จะทำให้บริษัทระดับโลกหลายแห่งต้องย้ายฐานการผลิต แผนพลังงานชาติที่จะออกมาใหม่จึงเป็นแผนที่สำคัญที่สุด นอกจากนี้พฤติกรรมผู้บริโภคปัจจุบันยังให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งจะดูคาร์บอนฟุตปรินต์ ประกอบการตัดสินใจซื้อ

ทั้งนี้แสดงสินค้าและเทคโนโลยีทางด้านพลังงานและงานประชุมระดับผู้นำแห่งเอเชีย จัดขึ้นโดย บริษัท แกท อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท แคริออน อีเวนท์ จำกัด ประเทศสิงคโปร์ ผนึกภาครัฐและเอกชนด้านพลังงานกว่า 200 แห่งทั่วโลก เปิดงานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีทางด้านพลังงานและงานประชุมระดับผู้นำแห่งเอเชียอย่างยิ่งใหญ่ ภายใต้คอนเซปต์ การเติบโตแห่งพลังงานที่ยั่งยืนสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ชูนวัตกรรม Solar Storage ระบบกักเก็บพลังงาน ที่จะมาเปลี่ยนโลกให้ก้าวสู่ Net Zero ได้เร็วขึ้น โดยภายในงานที่จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 20-22 กันยายน มีผู้มาร่วมงาน 2 วันนี้ (21 กันยายน )กว่า 15,000 คน

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

ชี้ “คาสิโน-พนันออนไลน์” คือเศรษฐกิจบาป

“อลงกรณ์” ชี้“คาสิโน-พนันออนไลน์”คือเศรษฐกิจบาปและวัฒนธรรมสีเทา”กัดเซาะบ่อนทำลายหลักนิติรัฐและคุณธรรมของประเทศ

ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เผยสุดยอดทำเลทองประจำปี 2567

ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เผยสุดยอดทำเลทองประจำปี 2567 ไม่พลิกโผคนยังค้นหาบ้านใน “กรุงเทพฯ” มากที่สุด “BTS อ่อนนุช” ยังครองแชมป์ทำเลแนวรถไฟฟ้าสุดฮอต

10 ประเด็น ที่ต้องทำความเข้าใจกับ ทักษิณ

“เทพไท เสนพงศ์” ชี้ 10 ประเด็น ที่ต้องทำความเข้าใจกับ ทักษิณ

ยุคทองของสหรัฐ เริ่มต้นขึ้นแล้ว

ซีไอเอ็มบีไทย วิเคราะหื ยุคทองของสหรัฐ เริ่มต้นขึ้นแล้ว “ทรัมป์ 2.0” จะเห็นโลกและภูมิเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป