เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 เตรียมตั้งรับ 6 ปัจจัยเสี่ยง มีหมอกปกคลุมทั่วฟ้า ท่ามกลาง
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า สำนักวิจัยฯปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2565 เป็น 3.2% จาก 3.1% โดยคาดว่าไตรมาส 3 และ 4 จะฟื้นตัวต่อเนื่องที่ราว 4% จากปีก่อน และมองการเติบโตปี 2566 ที่ 3.4% ซึ่งเป็นระดับที่เหนือค่าเฉลี่ยในอดีต ท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรงตามปัญหาเงินเฟ้อสูงและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากธนาคารกลางสำคัญ แม้เศรษฐกิจไทยมีทิศทางฟื้นตัวสดใสขึ้น แต่ไตรมาส 4 มี 6 ปัจจัยเสี่ยงที่อาจฉุดให้การเติบโตต่ำกว่าคาด เสมือนหมอกปกคลุมทั่วฟ้าท่ามกลางมหาพายุ ได้แก่
1 เศรษฐกิจไทยฟื้นไม่ทั่วถึง
2 เงินเฟ้อไทยลดลงช้า
3 เสียโอกาสการลงทุน
4 วิกฤติพลังงานในยุโรป
5 สหรัฐเร่งขึ้นดอกเบี้ย
6 เงินหยวนอ่อนค่า
“เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 แม้ใกล้จะฟื้นตัวเท่าช่วงก่อนโควิด แต่ขาดการกระจายตัวและอุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ มีเพียงกลุ่มท่องเที่ยวฟื้นได้เร็ว ส่วนปัญหาเงินเฟ้อยังรุนแรงต่อ เพราะแม้เงินเฟ้อจะลดลงแต่ราคาสินค้าและบริการหลากหลายหมวดหมู่เริ่มขยับขึ้นหลังผู้ผลิตอั้นต้นทุนต่อไปไม่ไหว คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง ด้านการเมืองไทย อาจเห็นรัฐบาลยุบสภาฯ ช่วงไตรมาส 4 ถึงต้นปีหน้า มีผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติที่เตรียมย้ายฐานมาไทยและการลงทุนภาครัฐโครงการใหม่อาจชะลอออกไปก่อนมีรัฐบาลใหม่ ด้านต่างประเทศ ปัจจัยที่กระทบการส่งออกและการท่องเที่ยวไทย คือ วิกฤติพลังงานในยุโรปที่กระทบการบริโภคและการลงทุนหากยุโรปมีปัญหากับรัสเซีย และปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวแรงหลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ อีกทั้งการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ สวนทางกับจีนที่ลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้นักลงทุนเก็งกำไรการอ่อนค่าของเงินหยวนและจะยิ่งทำให้เงินบาทอ่อนค่าได้แรงปลายปีนี้” ดร.อมรเทพ กล่าว