
งาน 150 ปี กระทรวงการคลัง “MOF Journey: 150 ปี เส้นทางการคลังไทย” กับงานเสวนา “ย้อนเวลากับเรื่องเล่าคนคลัง” โดยปลัดกระทรวงการคลังทั้งอดีตและปัจจุบัน ได้แก่ ดร.อรัญ ธรรมโน อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง และนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะแม่ทัพจัดงานครบ 150 ปี เล่าถึงเหตุผลที่เลือกอดีตปลัดคลัง ทั้ง 3 คนว่า ต้องการให้ครอบคลุมยุกสมัยมากที่สุด โดยอดีตปลัดคลังทั้ง 3 คน อายุ 90 ปี 80 ปี 70 ปี และตัวของผมเองก็เป็นตัวแทนของปลัดคลังอายุ 60 ปี จะได้เห็นภาพการบริหารและจุดยืนของกระทรวงการคลังแต่ละยุคสมัย

“อรัญ ธรรมโน” ตั้งใจจริง ขยัน ซื่อสัตย์
ดร.อรัญ ธรรมโน อดีตปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า โชคดีการเป็นปลัดคลังช่วงปี 2536-2538 ได้รมว.คลังที่ไม่เคยขอให้ผม ทำอะไรที่ไม่ควรทำ และในช่วงที่ผมเป็นปลัดคลัง ทำงบประมาณเกินดุลได้ทั้ง 3 ปี
“งานที่ท้าทาย งานราชการทำง่าย อาศัยความตั้งใจจริง ขยัน ซื่อสัตย์ ภูมิใจที่ทำหลายงานสำเร็แต่เล่าไม่ได้ ทั้งงานที่กรมศุลกากร ที่บอกไม่ได้ งานที่กรมสรรพสามิตก็เล่าไม่ได้ ซึ่งเป็นกรมที่มีผลประโยชน์มากมาย” ดร.อรัญ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ดร.อรัญ เล่าให้ฟังเป็นตัวอย่างให้พอเห็นภาพว่าตอนอยู่สมัยกรมศุลกากร เจ้าหน้าที่จับทองได้ที่จังหวัดพัทลุงตอน 6 โมงเช้า ซึ่งผมยังไม่ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่เลย แต่ตอน 6 โมง 15 นาที มีคนโทรมาหาผมให้ผมปล่อยซึ่งผมก็ไม่ยอมทำตาม
หรือจะเป็นสมัยอยู่กรมสรรพสามิต เรื่องการขอให้ต่อสัมปทานสุราที่ครบกำหนด ซึ่งผมไม่ยอมทำให้มีการประมูลใหม่ทั้ง 2 ครั้ง เป็นต้น
ดร.อรัญ กล่าวว่า ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นต้นแบบของคนกระทรวงการคลัง ปลุกเสกหลักการ การทำงานสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ตั้งวินัยการเงินการคลัง ง่ายๆ ไม่ได้ยาก 3 เรื่องที่สำคัญ เรื่องแรกให้ตั้งงบลงทุนไม่น้อยกว่า 30% ของงบลงทุน
เรื่องที่สองการดูแลเงินเฟ้อไม่ให้สูงเกิน โดยการดูแลปริมาณเงินที่ใส่เข้าไปในระบบ ให้เท่ากับจีดีพีบวก 3%
และสาม หากกู้เงินต่างประเทศ ให้กู้เงินจากธนาคารโลก เพราะต้องให้เราทำความคุ้มค่าจากการใช้เงินกู้ ทำให้การกู้เงินมาใช้เกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจของประเทศ

“ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล” ต้องทำตามหน้าที่เพื่อความถูกต้อง
ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เป็นปลัดคลังช่วงปี 2538 – 2540 ลาออกจากตำแหน่งเพราะไม่มีงานทำ เนื่องจากตอนสมัยเป็นอธิบดีกรมสรรพากร มีการอภิปรายในสภาฯ ว่า ส.ส. 10 คนมีเงินได้ แต่ไม่ได้เสียภาษี ผมก็ไม่สามารถที่จะไม่ประเมินภาษีเขาได้ ทำให้เขาแค้นใจ เมื่อได้กลับมาเป็นใหญ่ทางการเมือง ก็ย้ายผมไปประจำสำนักนายกฯ ผมก็ลาออก เพราะไม่มีงานทำ
ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า งานที่ภาคภูมิใจ คือ การได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และมีการนำการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ มาใช้บริหารนโยบายการเงินให้มีเสถียรภาพ ที่หลายประเทศในโลกใช้อยู่ และก็ยังใช้ได้ผลดีจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังภูมิใจที่ได้แก้กฎหมาย ธปท. ให้เป็นอิสระจากกระทรวงการคลังอย่างแท้จริง การเลือกตั้งผู้ว่า ธปท. ไม่ใช่รัฐบาลเป็นคนเสนอ แต่มีคณะกรรมการคัดเลือก เป็นการออกกฎหมายธปท. ที่แยกให้ธปท. อิสระออกจากรัฐบาล

“ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์” กับการปฏิรูปภาษีครั้งสำคัญ
ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจ ประเทศไทยต้องออกเช็คช่วยชาติ แจกให้กับคนที่อยู่ในระบบประกันสังคม คนละ 2 พันบาท วงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท การออกนโยบายการคลังช่วงวิกฤต ต้องตรงเป้าหมายจนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นฟื้นขึ้นมาได้
นอกจากนี้ ยังมีการออก พ.ร.ก. กู้เงินไทยเข้มแข็ง 4 แสนล้านบาท รวมกับงบประมาณปกติ และงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ รวม 1.1 ล้านล้าน ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และสังคม การศึกษา สาธารณสุข ทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นมากในปี 2552 ขยายตัวได้ถึง 7.5%
เรื่องที่ท้าทาย คือการปฏิรูปภาษีครั้งสำคัญ การเก็บภาษีทรัพย์สินครั้งแรก คือภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
นอกจากนี้ ยังมีการสร้างตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม โดยการตั้ง กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ทำให้แรงงานนอกระบบมีการออมเงินใช้เงินหลังเกษียณอายุ

“ลวรณ แสงสนิท” นโยบายการคลัง ต้องไม่มีทุจริต
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง คนปัจจุบัน เริ่มงานจาก สศค. เจ้าตัวยอมรับว่าไม่อยากรับราชการเลย ตั้งใจอยู่สัก 5 ปี ก็จะลาออก เพราะได้เงินเดือน 5 พันบาท ไม่พอกับการดำรงชีพ แต่คุณพ่อคุณแม่ ที่เป็นข้าราชการทั้ง 2 คน ต้องให้ลูกเป็นข้าราชการ ก็ทำเพื่อพอแม่จนได้มาเป็นปลัดคลัง
นายลวรณ เริ่มรับราชการก็ได้ทำงานสำคัญที่เป็นประสบการณ์ที่ดี เรื่องแรกการเจรจาการค้าอาฟต้า ต่อมาประเทศไทยเจอน้ำท่วมใหญ่ ก็ได้ทำเรื่องการตั้งกองทุนประกันภัยพิบัติแห่งชาติ
สมัยเป็นผู้อำนวยการ สศค. เจอโควิด แจกเงินเพื่อบรรเทาให้ประชาชนไป 2.2 แสนล้านบาท โดยได้โจทย์มาแค่แจกเงินให้คนตกงาน 5 พันบาท เป็นเวลา 3 เดือน
หลังจากนั้นมาเป็นอธิบดีกรมสรรพสามิต ก็ได้ทำโครงสร้างภาษีรถ EV และได้มาเป็นอธิบดีกรมสรรพการ ซึ่งงานไม่หนักเพราะระบบดีอยู่แล้ว จนได้มาเป็นปลัดคลัง ที่รมว.คลัง กับนายกฯ เป็นคนเดียวกัน ทำให้การทำงานช็อตคัตมากๆ ตรงถึงนายกฯ รวดเร็ว
นายลวรณ เรื่องที่ท้าทายหนีไม่พ้น ช่วงโควิด ไม่เคยเกิดขึ้น มีเวลาที่จะคิดทำงานสั้นมาก คนประชาชนเยอะมาก ไม่คิดว่าจะมีภาพปี 2562-2563 โดยได้โจทย์จากรัฐบาบให้แจกเงิน 5 พันบาท เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งต้องใช้ฐานข้อมูลคัดกรองขนาดใหญ่ แต่ก็ผ่านมาได้ โดยการแจกเงิน 2.2 แสนล้าน ไม่มีการทุจริตเลย เพราะคลังออกระบบให้โอนเงินตรงไปยังผู้เดือดร้อนโดยตรง