“ทิศทางการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนและการกำกับดูแลกิจการ”

Date:

ปัจจุบันนอกจากการแข่งขันกันทางธุรกิจแล้ว ภาคธุรกิจยังต้องเผชิญและรับมือกับความเสี่ยงในรูปแบบใหม่ ๆ ทั้งด้านสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และปัจจัยด้านความยั่งยืน (Sustainability หรือ ESG Risks) รวมถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่รุนแรง การละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นต้น ความเสี่ยงเหล่านี้ทำให้ภาคธุรกิจต้องมีการวางแผนรับมือกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งการกำหนดนโยบาย กลยุทธ์ การบริหารจัดการความเสี่ยงและการควบคุมภายใน ตลอดจนการเปิดเผยข้อมูลซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสื่อสารเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสีย ให้เข้าใจถึงแผนธุรกิจ และการดำเนินการในการมือความเสี่ยงที่เกิดขึ้น 

สำหรับภูมิทัศน์การจัดทำรายงานด้านความยั่งยืนในระดับสากล หน่วยงานกำกับดูแลมีการออกกฎเกณฑ์และข้อกำหนดที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินการและการเปิดเผยข้อมูลของภาคธุรกิจตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่อุปทานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาทิ มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนโดย International Sustainability Standards Board (ISSB)[1] ข้อบังคับว่าด้วยการรายงานความยั่งยืนขององค์กร (Corporate Sustainability Reporting Directive: CSRD)[2] ของสหภาพยุโรป (European Union: EU) รวมถึงกฎหมาย Corporate Sustainability Due Diligence Directive: CSDDD ที่กำหนดให้บริษัทมีการตรวจสอบการดำเนินธุรกิจ
ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน การเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนจึงเป็นสิ่งที่หลายภาคส่วนให้ความสนใจและเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย

หากมองในมิติของบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการในการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ซึ่งในหลักการกำกับดูแลกิจการ (G20/OECD Principles of Corporate Governance 2023) ฉบับล่าสุดของ Organisation for Economic Cooperation and Development (OECD)[3] กล่าวว่า คณะกรรมการมีหน้าที่ในการจัดทำทบทวน ประเมินนโยบายการบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการพิจารณาปัจจัยความเสี่ยงด้านความยั่งยืน และมีหน้าที่กำกับดูแล เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีกลไกการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพที่นำไปสู่ความน่าเชื่อถือของการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน 

บทบาทของคณะกรรมการ ในบทความ “Sustainability and ESG oversight: The corporate director’s guide” ของ PwC[4]ยังกล่าวรวมถึง การทำหน้าที่กำหนดกรอบนโยบายการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ครอบคลุมตั้งแต่การเตรียมความพร้อมสำหรับการรวบรวมข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องในการเปิดเผย การดูแล Data gaps เพื่อรองรับการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดและเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น พลวัตของแรงงาน (Workforce dynamics) การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในกิจกรรมของธุรกิจ (Incorporating new technologies) การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain disruption) ที่เกิดจากภัยธรรมชาติ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของข้อกำหนดสำหรับการรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืนในระดับสากลที่มีจำนวนและความซับซ้อนเพิ่มขึ้น ซึ่งบางบริษัทอาจจะมีหลายข้อกำหนดที่ต้องปฏิบัติตามเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมาย (Compliance Risk) ตามมา เป็นต้น

ขณะที่บริบทของการจัดทำรายงานด้านความยั่งยืน อีกประเด็นที่มีการกล่าวถึงในระดับสากล คือ การรับรองข้อมูลด้านความยั่งยืน (Assurance) เพื่อให้ข้อมูลมีความโปร่งใส น่าเชื่อถือและช่วยลดปัญหา greenwashing ได้ ซึ่งประเด็นนี้ได้ถูกเพิ่มใน G20/OECD Principles of Corporate Governance 2023 เช่นกัน โดย OECD ได้เสนอแนะให้หน่วยงานกำกับหรือองค์กรที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย พิจารณาออกข้อกำหนดหรือแนวปฏิบัติที่ดีให้คณะกรรมการต้องมีความเข้าใจในนโยบายและกระบวนการการดำเนินการของบริษัทอย่างชัดเจน ตลอดจนกำกับดูแลให้มีระบบการควบคุมภายในที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน เพื่อให้ข้อมูลที่เปิดเผยมีความถูกต้องและครบถ้วน รวมทั้งการจัดให้มีการรับรองข้อมูลด้านความยั่งยืนโดยหน่วยงานรับรองภายนอก (External assurance) ซึ่งสามารถทำในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยในระยะแรกอาจเริ่มด้วยการกำหนดให้มีการรับรองข้อมูลเพียงบางประเภท เช่น ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และในระยะยาวการรับรองข้อมูลความยั่งยืนควรเทียบเคียงได้กับแนวทางการรับรองรายงานทางการเงิน

การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่มีความถูกต้องครบถ้วนตามบริบทการดำเนินธุรกิจ และสามารถตอบโจทย์ความคาดหวังของผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียอย่างมีนัยสำคัญได้นั้น ภาคธุรกิจจำเป็นต้องเกิดความตระหนักและปรับตัว โดยคำนึงถึงความสำคัญของการจัดให้มีโครงสร้างการกำกับดูแลที่เหมาะสม มีคณะกรรมการที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำองค์กร ขณะที่ฝ่ายจัดการและพนักงาน รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่คุณค่าควรตระหนักถึงความเสี่ยงและโอกาสด้านความยั่งยืน เพื่อสร้างความร่วมมือที่ดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง


ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลและพัฒนานโยบายเพื่อตลาดทุนที่ยั่งยืน เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ประกอบธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง และอยู่ระหว่างการยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของ บจ. ให้สอดรับกับทิศทางสากล ควบคู่ไปกับการออกมาตรการและเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการทำหน้าที่ในการกำกับดูแลกิจการของคณะกรรมการในบริบทที่เน้นและให้ความสำคัญกับความยั่งยืนเช่นกัน

Share post:

spot_img

Related articles

อุ๊งอิ๊งค์ วันแรก ก็โดนเสียแล้ว

อุ๊งอิ๊งค์ วันแรก ก็โดนเสียแล้ว “อาปู กับ หลานอิ๊งค์ แตกต่างกันอย่างไร”

แนะรัฐบาลขึ้นภาษี VAT พาเศรษฐกิจพ้นหายนะ 

อดีต รมว.คลัง แนะรัฐบาลใหม่ขึ้นภาษี VAT เพิ่มรายได้ประเทศแสนล้าน พาเศรษฐกิจพ้นหายนะ

ครม.สืบสันดาน ถูกต้องเหมาะสมแล้ว

“นายเทพไท เสนพงศ์” บอก ครม.สืบสันดาน ถูกต้องเหมาะสมแล้ว

รัฐบาลอุ๊งอิ๊ง จะรอดข้ามปีมั้ย???

“นายเทพไท เสนพงศ์” ตั้งข้อสังเกต รัฐบาลอุ๊งอิ๊ง จะรอดข้ามปีมั้ย???

Notice: ob_end_flush(): Failed to send buffer of zlib output compression (0) in /home/ozapeumy/public_html/wp-includes/functions.php on line 5427