ก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมไทย ในยุคแก้ปัญหาโลกร้อน

Date:

ก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมไทย ในยุคฟื้นฟูความเชื่อมั่นการแก้ปัญหาโลกร้อน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC ประเมินว่า ความเร่งด่วนในการจัดการปัญหาโลกร้อนมีมาก แต่ความเชื่อมั่น (Trust) ต่อการแก้ปัญหากำลังถูกสั่นคลอน เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ วิกฤติโลกร้อนกำลังส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งจากอุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้นทั่วโลก รวมทั้งในไทย อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบปัญหากับการแก้ปัญหา กลับพบว่า โลกยังห่างไกลจากเป้าหมายที่จะจำกัดไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีสในปี 2015 ซึ่งเมื่อ ‘สิ่งที่เกิดขึ้นจริง’ กับ ‘สิ่งที่สัญญา’ ยังมีความแตกต่างกันมาก ความเชื่อมั่น (Trust) ที่มีต่อการผลักดันการแก้ปัญหาโลกร้อนจึงลดลงตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นต่อการออกนโยบายที่เหมาะสม เพียงพอและตอบโจทย์ของภาครัฐ ต่อความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาของผู้ดำเนินนโยบาย หรือแม้แต่ความเชื่อมั่นที่มีต่อภาพความสำเร็จตามความตกลงปารีส

‘สามแนวทาง’ เร่งฟื้นความเชื่อมั่นและปิดช่องว่างในการแก้ปัญหาโลกร้อน

การเร่งฟื้นความเชื่อมั่นเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ หากโลกต้องการเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากความเชื่อมั่นเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการสร้างความร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาโลกร้อนให้สัมฤทธิ์ผล โดยจากการวิเคราะห์ผลการประชุม COP28 และการประชุมสภาเศรษฐกิจโลกปี 2024 SCB EIC พบว่า ประชาคมโลกตัดสินใจใช้ 3 แนวทางเพื่อเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นและปิดช่องว่างในการแก้ปัญหาโลกร้อน ได้แก่ 1) ‘Move faster’ เร่งขับเคลื่อนการแก้ปัญหาโลกร้อนให้เร็วและแรงขึ้น เช่น การเร่งเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนโลกขึ้น 3 เท่าภายในปี 2030 หรือภายในระยะเวลาเพียง 7 ปี 2) ‘More inclusive’ ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เช่น การผลักดันการลงทุนไปยังประเทศ ภูมิภาคหรือชุมชน ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากที่สุด และ 3) ‘Beyond net zero’ ต้องคำนึงถึงการฟื้นฟูธรรมชาติควบคู่กันไปด้วย เช่น  การเร่งผลักดันการเกษตรรูปแบบใหม่ที่จะช่วยฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่กว่า 1,000 ล้านไร่ภายในปี 2030

แนวทางแก้โลกร้อนในยุคฟื้นฟูความเชื่อมั่น จะทำให้มีทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตมากขึ้น และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้น

แนวทางแก้ปัญหาโลกร้อนจะกระทบต่ออนาคตของอุตสาหกรรมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดย SCB EIC แบ่งอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่มีโอกาสเติบโตมากขึ้นและกลุ่มที่จะต้องเร่งปรับตัว โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตมากขึ้นมี 6 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของพลังงานหมุนเวียน 2. กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 3. กลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของรถไฟฟ้า 4. กลุ่มอุตสาหกรรมจัดการของเสีย 5. กลุ่มอุตสาหกรรมวัสดุฐานชีวภาพ และ 6. กลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำ ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่จะต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับแรงกดดันที่มากขึ้นและคว้าโอกาสทางธุรกิจมีอยู่ 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น น้ำมันและก๊าซ โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เหล็ก ซีเมนต์  2. กลุ่มอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพสูง อาทิ เกษตร เหมืองแร่ เคมีภัณฑ์ และ 3. กลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์สันดาปภายในและชิ้นส่วน

ผู้ประกอบการควรหันมาลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการดำเนินธุรกิจอย่างจริงจัง พร้อมทั้งแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ จากแนวทางการแก้ปัญหาโลกร้อน 

SCB EIC มองว่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการดำเนินธุรกิจ กำลังกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับธุรกิจที่ต้องการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต เนื่องจากในระยะต่อไป บริษัทและประเทศต่าง ๆ ที่มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์  (Net zero) จะนำปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของคู่ค้าหรือซัพพลายเออร์ มาใช้เป็นปัจจัยชี้ขาดในการเลือกซื้อวัตถุดิบและบริการมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการควรหันมาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการดำเนินธุรกิจอย่างจริงจัง ซึ่งสามารถดำเนินการผ่าน 5 ขั้นตอน คือ 1) ประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร 2) ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3) ค้นหาเทคโนโลยีและกลยุทธ์ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 4) ดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ 5) ติดตาม ประเมินและรายงานผลการดำเนินงานต่อสาธารณะ โดยนอกจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ผู้ประกอบการควรแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นจากการที่ทั่วโลกกำลังมุ่งสู่ Net zero ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการมองหาโอกาสเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของ 6 กลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตมากขึ้น หรือการใช้ประโยชน์จากแหล่งเงินทุนสีเขียว (Green finance) เพื่อสร้างสินค้าและบริการใหม่ ๆ ที่ตอบสนองต่อระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและการฟื้นฟูธรรมชาติ

การสนับสนุนจากภาครัฐ คือ หัวใจสำคัญที่จะช่วยให้การปรับตัวของภาคเอกชนประสบความสำเร็จ

การมุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ จะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 20 ปี โดยภาคเอกชนเพียงลำพังจะไม่สามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน จนนำไปสู่ความสำเร็จได้ ต้องอาศัยการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ โดย SCB EIC มองว่า ภาครัฐสามารถมีบทบาทสนับสนุนการปรับตัวของภาคเอกชนได้อย่างน้อย 2 ประการ คือ 1) ปรับเป้าหมาย Net zero ของประเทศให้เร็วขึ้น จากปี 2065 เป็น 2050 ให้สอดคล้องกับแนวทางโลก โดยหากไม่มีการปรับเปลี่ยนไทยจะบรรลุ Net zero ช้ากว่า 123 ประเทศถึง 15 ปี และจะทำให้ไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะหลุดออกจากวงจรการค้าโลกในอนาคต เนื่องจากประเทศและบริษัทต่าง ๆ ที่มีเป้า Net zero เร็วกว่าในปี 2050 มีแนวโน้มที่จะเลือกซื้อสินค้าและบริการเฉพาะจากประเทศและบริษัทที่มีเป้าหมาย Net zero ไม่ช้าไปกว่าเป้าหมายที่ประเทศหรือบริษัทของตนเองกำหนดไว้ 2) เร่งออกมาตรการสนับสนุนให้ธุรกิจและครัวเรือนปรับพฤติกรรมการผลิตและบริโภคไปในทิศทางที่นำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย Net zero ไม่ว่าจะเป็นการออกมาตรการสร้างแรงจูงใจสำหรับผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่มีความพร้อมด้านทรัพยากรแต่ขาดแรงจูงใจในการปรับตัว เช่น กฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ มีการมอบเครดิตภาษีให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่หันมาใช้พลังงานหมุนเวียนทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล หรือการออกมาตรการช่วยเหลือสำหรับผู้ประกอบการหรือผู้บริโภคที่ขาดทรัพยากรในการปรับตัว เช่น สนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยการดำเนินการดังกล่าวนอกจากจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการดึงดูดการลงทุนของประเทศแล้ว ยังเป็นการช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมของไทยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็กให้สามารถปรับเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำได้อย่างทันท่วงที

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

กรุงไทยเปิดตัวบัตรเดบิตใหม่ เอาใจสายมู

กรุงไทยเปิดตัวบัตรเดบิตใหม่ เอาใจสายมู “กรุงไทย เอ็กซ์ตร้า แคร์ พระพิฆเนศเสวยสุข” เสริมสิริมงคล ด้านการงานเจริญรุ่งเรืองและความสำเร็จ

“เผ่าภูมิ” ชูแนวคิด “สลาก กอช” ปฏิรูประบบการออม

“เผ่าภูมิ” ชูแนวคิด “สลาก กอช” ปฏิรูประบบการออม ลุ้นล้านทุกสัปดาห์ รับมือสังคมสูงวัยอย่างเท่าเทียม

ออมสิน ร่วมงานมหกรรมการเงินกรุงเทพ

ออมสิน ร่วมงานมหกรรมการเงินกรุงเทพ จัดโปร เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 99 วัน ดอกเบี้ยแบบ Step up เฉลี่ย 2.55% ต่อปี

ธนาคารกสิกรไทย ลดดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.15%

ธนาคารกสิกรไทย รับมติ กนง. ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.15%