สรรพสามิต ปักหมุดเดินหน้าสู่ Net Zero ปี 2050 

Date:

ดร. เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า จากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนทั่วโลก กรมสรรพสามิตตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงได้เดินหน้าในเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกมิติมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านทางนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต มุ่งเน้น สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) อาทิ

ด้านสิ่งแวดล้อม มาตรการรถยนต์ไฟฟ้า มาตรการ EV 3.0 และ EV 3.5 ที่มีผู้เข้าร่วมมาตรการ EV 3.0 และมาตรการ EV 3.5 รวม 32 ราย ส่งผลให้ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า ในปี 2566 สูงกว่าปีก่อนถึง 685%  และทำให้ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน  อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยกว่า 80,000 ล้านบาท มาตรการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน รวมถึงเป็นการสร้างองค์ความรู้ในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ

มาตรการภาษีคาร์บอน หรือ Carbon Tax เป็นกลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับ ที่สร้างการตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการปล่อยคาร์บอนให้กับผู้ประกอบการและประชาชน เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยผู้ประกอบการที่ส่งสินค้าออกไปยังประเทศปลายทางที่เสียภาษีในส่วนนี้ สามารถนำไปเจรจาลดหย่อนค่าธรรมเนียม Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM ได้    ซึ่งในระยะแรกจะมีการปรับใช้ภาษีคาร์บอนโดยใช้หลักการแปลงภาษีสรรพสามิตที่เดิมมีการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ให้อยู่ในรูปของภาษีคาร์บอน โดยไม่เป็นการสร้างภาระแก่ประชาชน 

ด้านสังคม มาตรการการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิต ไวน์ สุราแช่ และสถานบริการ โดยปรับอัตราภาษีตามมูลค่าจากเดิม 10% เป็น 0% และการปรับลดภาษีสถานบันเทิง จาก 10% เป็น 5% เพื่อลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการในการทำธุรกิจ และสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ นอกจากการ

ปรับลดอัตราภาษีแล้ว กรมได้ดำเนินโครงการ 1 ชุมชน 1 สรรพสามิต แชมเปี้ยน เพื่อเป็นการส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน โดยโครงการนี้ถือเป็นต้นแบบของความร่วมมือภาครัฐและเอกชนที่เป็นรูปธรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตั้งแต่ระดับชุมชน เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนและผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งทุน แหล่งความรู้ ด้านการตลาด พลังงานสิ่งแวดล้อม คุณภาพสินค้า และการผลิต รวมถึงส่งเสริมและให้ความสำคัญในด้าน ESG เพื่อสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน และลดการใช้พลังงานเพื่อต้นทุนลดลง สำหรับผู้ประกอบการที่ปฏิบัติตามกฎหมายและขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับกรมสรรพสามิตต่างก็มีการเติบโตและสร้างรายได้เพิ่มขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด โดยในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา ยอดการจัดเก็บรายได้ภาษีสินค้าสุราแช่ชุมชนเพิ่มสูงขึ้นกว่า 39 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 16.6%

นอกจากนี้ กรมได้ออกมาตรการลดภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน เพื่อลดค่าครองชีพและต้นทุนให้กับพี่น้องประชาชนและผู้ประกอบการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ดี ผลการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต 11 เดือน (ตุลาคม 2566 – สิงหาคม 2567) จัดเก็บได้จำนวน 482,026 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 10.7% และสูงกว่าเป้าหมายของกระทรวงการคลัง 1.06% ซึ่งเป็นเป้าที่ได้มีการปรับผลกระทบจากมาตรการต่าง ๆ ที่ช่วยผู้ประกอบการและประชาชน อาทิ มาตรการการลดภาษีน้ำมัน ภาษีรถ EV เป็นต้น 

ในด้านการปราบปราม กรมสรรพสามิตยกระดับการปฏิบัติงานเชิงรุกมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การเปิดศูนย์ปราบปรามสินค้าออนไลน์ และบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก อาทิ กองทัพบก ศูนย์รักษาความปลอดภัยของชาติทางทะเล (ศร.ชล.) สำนักงานตำรวจสอบสวนกลาง กรมการปกครอง ไปรษณีย์ไทย เป็นต้น ส่งผลให้ผลการปราบปรามสูงขึ้นกว่าปีก่อนถึง 27.4% 

นอกจากนี้ ในด้านธรรมาภิบาล กรมยังได้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการตรวจสอบว่าเป็นสินค้าที่ถูกกฎหมายผ่านการตรวจวิเคราะห์จากสรรพสามิตหรือไม่ โดยประชาชนสามารถตรวจสอบได้จากการสแกนแสตมป์บนผลิตภัณฑ์บุหรี่และสุรา ทั้งนี้นอกจากเป็นการสร้างความชอบธรรมต่อผู้ประกอบการที่เสียภาษีโดยสุจริตแล้ว ยังเป็นการดูแลความปลอดภัยในด้านสุขภาพให้กับพี่น้องประชาชนอีกด้วย

ดร. เอกนิติ เปิดเผยว่า กรมยกระดับการทำงานอย่างต่อเนื่องด้วยการรับฟังผู้ประกอบการ นำองค์ความรู้ทักษะสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Agile, Design Thinking, Digital Transformation มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ส่งเสริมบุคลากรให้มีความคล่องตัวในการทำงาน พร้อมทั้งส่งเสริมการให้บริการแบบไร้รอยต่อ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ประกอบการและประชาชน 

ล่าสุดกรมได้พัฒนาเว็บไซต์ใหม่โดยเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบุคลากรภายในของกรม เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานในทุกมิติ พร้อมทั้งเปิดตัวแชตบอต “น้องสมิตต์ (Smitt) ” ที่ถูกสร้างขึ้นโดย Generative AI เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการให้ข้อมูลภาษีสรรพสามิตเบื้องต้นแก่ผู้ประกอบการและประชาชน 

จากการยกระดับการดำเนินงานและการให้บริการด้วยการพัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆรวมถึงการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาใช้ ส่งผลให้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กรมได้รับรางวัลสำคัญมากมายทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติ อาทิ รางวัล ASOCIO Awards 2022 รางวัลเกียรติยศเลิศรัฐ และอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 17 รางวัล 

ดร. เอกนิติ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวเพิ่มเติมว่า การเดินหน้าขับเคลื่อนสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2065 ตามที่ประเทศไทยได้มีการตกลงไว้นั้น เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องให้ความร่วมมือ วันนี้กรมสรรพสามิต กรม ESG จะเป็นหน่วยราชการแรกที่ขอปักหมุดและขับเคลื่อนทั้งองค์กรให้เดินหน้าสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ Net Zero ในปี 2050 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศไทย 15 ปี ซึ่ง กรมต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50 % ในปี 2030 ตามแผนดังนี้

ภาคการใช้น้ำมัน

เปลี่ยนจากรถยนต์สันดาปไปใช้รถ EV เพื่อลดปริมาณก๊าซลง 19.5%

ภาคสารทำความเย็น

ปลี่ยนไปใช้สารทำความเย็นชนิด R32  เพื่อลดปริมาณก๊าซลง 12.20%

ภาคการใช้พลังงานไฟฟ้า

ปลี่ยนเป็นใช้พลังงานทดแทน หรือ Solar Roof เพื่อลดปริมาณก๊าซลง 62.40%

เพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน จากการใช้ หลอดไฟอัจฉริยะ หรือระบบควบคุมแสงในอาคารที่ปรับแสงได้อัตโนมัติ เพื่อลดปริมาณก๊าซลง 1.60% และการเปลี่ยนคอมพิวเตอร์ PC เป็น Laptop เพื่อลดปริมาณก๊าซลง 3.60%

ภาคของเสีย

จัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดปริมาณก๊าซลง 0.40%

เปลี่ยนไปใช้การดำเนินงานที่ไม่มีเอกสาร หรือไม่ใช้กระดาษ เพื่อลดปริมาณก๊าซลง 0.30%

ภาคการจัดการห่วงโซ่อุปทาน

ส่งเสริมลูกค้าและภาคีเครือข่ายเพื่อสร้างโอกาสในการเข้าสู่ Green Supply Chain อาทิ ผู้ประกอบการโครงการสุราชุมชน 1 ชุมชน 1 สรรพสามิต แชมเปี้ยน 

ดร. เอกนิติ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวในตอนท้ายว่า ทั้งหมดนี้คือการลงมือทำจริงของกรมสรรพสามิต กรม ESG ที่จะก้าวสู่ Net Zero ในปี 2050 ตามยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต มุ่งเน้น สิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล สร้างมาตรฐานสากล เดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน 

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

CIMB Thai หนุนบริษัทไทยฝ่าคลื่นอนาคต

CIMB Thai หนุนบริษัทไทยฝ่าคลื่นอนาคตเกาะกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลง

นิสัยคนไทย : เสพติดประชานิยม

นิสัยคนไทย : เสพติดประชานิยม แจกเงินสดหนึ่งหมื่น : หวังลมพายุหมุนได้แค่ลมปาก

เรืองไกร ร้อง กกต. สอบนายกฯ ขัด รธน. ม.184 (4) หรือไม่

เรืองไกร งัดข่าวและคลิปฉุนสื่อยุแยง ร้อง กกต. สอบนายกฯ ขัด รธน. ม.184 (4) หรือไม่

บ้านปู เน็กซ์  ลงทุนในบริษัท แอมป์ จำกัด (แอมป์ เจแปน) 

บ้านปู เน็กซ์  ลงทุนในบริษัท แอมป์ จำกัด (แอมป์ เจแปน) บริษัทชั้นนำในประเทศญี่ปุ่นผู้พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจนถึงการนำออกสู่ตลาด