Sustainable living … ก้าวต่อไปของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

Date:

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ประเมินว่า อสังหาริมทรัพย์ เป็นภาคธุรกิจที่มีสัดส่วนในการปล่อยคาร์บอน (Carbon emission) สูงถึง 40% ของการปล่อยคาร์บอนโดยรวม โดยเฉพาะในช่วงเข้าอยู่อาศัย (Living phase) นำมาสู่การนำแนวคิด ESG มาพัฒนา Sustainable living เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างโอกาสทางธุรกิจ โดยการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสีเขียวจะทำให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการลดผลกระทบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม แต่ยังต้องสร้างความตระหนักและความเข้าใจถึงความจำเป็นของที่อยู่อาศัยสีเขียวต่อกลุ่มผู้ซื้อในวงกว้าง ภายใต้ความท้าทายด้านต้นทุน และมาตรฐานรับรองในระดับสากล

ปัจจุบันผู้ประกอบการ ทั้งต่างประเทศ และไทยมีการนำแนวคิด ESG มาเป็นกรอบในการดำเนินธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ตั้งแต่กระบวนการก่อสร้าง จนถึงการอยู่อาศัย ดังนี้

– ในช่วงก่อนเข้าอยู่อาศัย : ผู้ประกอบการคำนึงถึงการลดผลกระทบตั้งแต่จุดเริ่มต้น ผ่านการออกแบบและการก่อสร้างที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งการลดการเกิดของเสียและเริ่มใช้การก่อสร้างสำเร็จรูป ซึ่งสะท้อนถึงความแพร่หลายของการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการของเสีย และการใช้เทคโนโลยีทางการก่อสร้าง

– ในช่วงเข้าอยู่อาศัย : ผู้ประกอบการเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการประหยัดพลังงานและน้ำ รวมทั้งการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อการอยู่อาศัย สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และประหยัดค่าใช้จ่ายในการอยู่อาศัย ตลอดจนการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับผู้อยู่อาศัย

นอกจากนี้ สมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Association of Home Builders: NAHB) ระบุว่า แม้ว่าการพัฒนาโครงการบ้านสีเขียวจะมีต้นทุนสูงกว่าโครงการทั่วไป แต่หากพัฒนาโครงการที่เน้นบ้านสีเขียวมากขึ้น จะส่งผลให้มีต้นทุนส่วนเพิ่มจากการพัฒนาโครงการบ้านสีเขียวไม่สูงมากนักจากความเชี่ยวชาญที่เพิ่มขึ้น และการเกิด Economies of Scale ในการพัฒนาโครงการบ้านสีเขียว

จากผลสำรวจ Residential real estate survey 2567 โดย SCB EIC เกี่ยวกับมุมมองของผู้บริโภคต่อความสนใจและการยินดีจ่ายเงินเพิ่มในอสังหาริมทรัพย์ด้านที่อยู่อาศัย พบว่า กลุ่ม Gen Z  ให้ความสนใจและยินดีจ่ายเงินเพิ่ม เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยในโครงการที่ให้ความสำคัญกับเทรนด์ ESG มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ สะท้อนความตื่นตัว และให้ความสำคัญกับเทรนด์ ESG โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่จะมีบทบาทเป็นกำลังซื้อในตลาดที่อยู่อาศัยมากขึ้นในระยะต่อไป

SCB EIC มองว่า ผู้ประกอบการควรมุ่งดำเนินการด้านความยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบจากภาคธุรกิจต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการดำเนินการภายในองค์กร และสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกองค์กร ทั้งช่วงก่อนและระหว่างเข้าอยู่อาศัย แม้ว่าผู้ประกอบการที่พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสีเขียวยังเผชิญความท้าทายจากปัจจัยทางด้านต้นทุน และมาตรฐานรับรองในระดับสากล รวมถึงยังต้องสร้างความตระหนักและความเข้าใจถึงความจำเป็นของที่อยู่อาศัยสีเขียวต่อกลุ่มผู้ซื้อในวงกว้าง อย่างไรก็ดี ในระยะยาวการลงทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยสีเขียวจะทำให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการลดผลกระทบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม

โดยอาจดำเนินงานตามแนวทาง ดังนี้

– การลงทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยสีเขียว : ผู้ประกอบการควรลงทุนปรับใช้เทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยีก่อสร้างสำเร็จรูป (Precast/ Prefabrication/Modular), Building Information Modelling (BIM), Smart Construction Equipment
ในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสีเขียว ซึ่งจะช่วยยกระดับความสามารถในการลดการใช้ทรัพยากร และระยะเวลาก่อสร้าง  รวมถึงใช้วัสดุก่อสร้าง และเครื่องจักรก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบโจทย์ในการลดมลภาวะ

– การพัฒนาโครงการตามมาตรฐานรับรองที่อยู่อาศัยสีเขียว : ภาครัฐ ผู้ประกอบการ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ควรผลักดันให้มีการนำมาตรฐานรับรองที่อยู่อาศัยสีเขียวมาปรับใช้ โดยอาจเริ่มจากมาตรฐานรับรองที่อยู่อาศัยแนวราบในไทยอย่าง TREES for Home ก่อนยกระดับการปรับใช้มาตรฐานสากลอย่าง LEED for Homes เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และขยายฐานลูกค้ากลุ่มเป้าหมายในที่อยู่อาศัยสีเขียวมากขึ้น

– การขยายตลาดที่อยู่อาศัยสีเขียว ทั้งด้านอุปสงค์ และอุปทาน : ภาครัฐ ผู้ประกอบการ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันมาสนใจที่อยู่อาศัยสีเขียวเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้การเลือกที่อยู่อาศัยแบบนี้กลายเป็นเรื่องปกติและใกล้ตัวมากขึ้น รวมถึงภาครัฐอาจมีมาตรการจูงใจทั้งผู้ซื้อและผู้ประกอบการ เช่น การนำเงินลงทุน ค่างวดผ่อนชำระ หรือดอกเบี้ยจากการซื้อหรือลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสีเขียวไปลดหย่อนภาษีได้ การให้สินเชื่อในวงเงินและอัตราดอกเบี้ยพิเศษเพื่อซื้อหรือพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสีเขียว ซึ่งจะช่วยกระตุ้นความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย รวมถึงจูงใจให้ผู้ประกอบการหันมาพัฒนาที่อยู่อาศัยสีเขียวมากขึ้น

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

ยันอีกแล้ว ผู้ทำผิด ตึก สตง. ถล่ม ต้องถูกดำเนินคดีค่ะ

อิงค์ ยันอีกแล้ว ผู้ทำผิด ตึก สตง. ถล่ม ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายค่ะ

รัฐมนตรีคลังจนแต้ม จี้พิจารณาตัวเองด่วน

รัฐมนตรีคลังจนแต้ม ทีมเศรษฐกิจสองนายกรัฐมนตรี ไม่รู้เรื่องรู้ราวเอาเสียเลย แนะนำให้ท่านทบทวนตัวเองและทีมงานเป็นการด่วน

ผลสำรวจ นิด้าโพล เห็นควรปรับ ครม. ทันที

ผลสำรวจ นิด้าโพล เห็นควรปรับ ครม. ทันที ลงความเห็น 2 พิชัย ไม่ควรไปต่อ

ปรับภูมิใจไทยออก: ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก

ปรับภูมิใจไทยออก เพื่อไทยอยู่ในลักษณะกลืนไม่เข้าขายไม่ออก หรือจะเรียกว่ายักตื้นติดกึกยักลึกติดกัก ก็ได้