อุตสาหกรรมการบินถือเป็นหนึ่งในภาคขนส่งที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ในระดับสูง คิดเป็นสัดส่วนราว 2% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก ทำให้จำเป็นต้องเร่งดำเนินการ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2593 ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญ ได้แก่ เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) ที่สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึงราว 80% เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิล
Krungthai COMPASS ประเมินว่า ในปี 2580 มูลค่าตลาด SAF ของไทยจะสูงถึง 6.3 หมื่นล้านบาท จากในปี 2569 ที่คาดว่าจะมีมูลค่า 5.4 พันล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ยสูงถึงปีละ 25%CAGR จากเป้าหมายการใช้ SAF ของไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งหากภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันในการสนับสนุนการใช้ SAF ตามป้าหมายที่จะให้สายการบินใช้ SAF ในสัดส่วน 8% ในปี 2580 คาดว่าจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 2.3 ล้านตันต่อปี หรือราว 11% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการขนส่งทางอากาศของไทย
อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตและการใช้ SAF ยังมีความท้าทายและต้องอาศัยความร่วมมือกันทั้ง Ecosystem โดยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการบินควรวางแผนและกำหนดเป้าหมายการใช้ SAF มากขึ้น ส่วนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพควรสร้างเครือข่ายในการจัดหาและการผลิต SAF
ขณะที่ภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต SAF รวมทั้งออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนและการใช้ SAF อย่างเป็นรูปธรรม