Krungthai COMPASS ประเมินว่า Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 ซึ่งอยู่ระหว่างรับฟังความเห็นจากสาธารณะ ครอบคลุมกิจกรรมในภาคเกษตร อุตสาหกรรมการผลิต อาคารและอสังหาริมทรัพย์ และการจัดการของเสีย ที่มีการปล่อย GHG ราว 29% ของการปล่อยทั้งหมดของไทยในแต่ละปี โดยรวมแล้วจะทำให้ Thailand Taxonomy ครอบคลุมกิจกรรมที่ปล่อย GHG ของไทยมากถึง 95%
กิจกรรมที่ปล่อย GHG สูงอย่างการปลูกข้าว อาคารและอสังหา-ริมทรัพย์ และการผลิตซีเมนต์ นับว่ามีความท้าทายสูงในการปรับตัวตามมาตรฐานกิจกรรมสีเขียว โดยการปลูกข้าวมีความท้าทายจากการที่ผู้ประกอบการเกือบทั้งหมดเป็นรายย่อยที่มีข้อจำกัดในการปรับตัวขณะที่การผลิตซีเมนต์มีความท้าทายในการลงทุนเทคโนโลยีสะอาดที่มีราคาแพง ขณะที่ภาคอาคารและอสังหาริมทรัพย์ เผชิญกับความท้าทายจากทั้ง 2 ปัจจัยในระดับที่รองลงมา
แม้ Thailand Taxonomy จะเป็นมาตรฐานภาคสมัครใจ แต่ Krungthai COMPASS แนะนำผู้ประกอบการควรศึกษาแนวทางดำเนินธุรกิจตามมาตรฐานกิจกรรมสีเขียว เพื่อลดความเสี่ยงจากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและการเข้าถึงเงินทุนในอนาคต โดยที่ภาครัฐควรให้การสนับสนุนผ่านกลไกต่างๆ
อาทิ สนับสนุนทางการเงิน ออกกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาด สร้างความร่วมมือกับต่างประเทศในด้านเทคโนโลยี และต้องให้การสนับสนุนกลุ่มเปราะบางอย่าง SME ในทุกมิติ สำหรับภาคการเงินควรนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน โดยเน้นการลงทุนในเทคโนโลยีและพลังงานสะอาด