สนค. แนะ ตราสารหนี้สีเขียว (Green bond)

Date:

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นความท้าทายของทุกภาคส่วนทั่วโลก มาตรการ กฎเกณฑ์ และนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้ภาคธุรกิจจำเป็นต้องเร่งปรับตัว และหาแหล่งเงินทุนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงและแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ โดยในรายงาน Global Warming of 1.5°C ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) คาดการณ์ว่า ในปี 2583 อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส จากปี 2564 (19 ปี) และในช่วงระหว่างปี 2559 – 2578 ทั่วโลกจะมีค่าใช้จ่ายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 2.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ขณะที่ในรายงาน Labelled Bonds for the Net-Zero Transition in South-East Asia: The Way Forward ที่จัดทำโดย World Economic Forum ร่วมกับ ETH Zurich ระบุว่า โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายทางการเงิน เนื่องจากจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี สำหรับดำเนินการต่าง ๆ ให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

ผอ.สนค. อธิบายว่า ความต้องการเงินทุนสำหรับการดำเนินการที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจของภาคเอกชน ก่อให้เกิดทางเลือกในการระดมทุนสำหรับโครงการที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ ได้แก่ ตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) หรือตราสารหนี้ที่ระดมทุนเพื่อนำไปใช้ดำเนินโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  อาทิ โครงการพลังงานหมุนเวียน การคมนาคมที่ใช้พลังงานสะอาด การบริหารจัดการขยะ และการสร้างอาคารสีเขียว ทั้งนี้ ตราสารหนี้สีเขียวที่ออกโดยรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจจะเรียกว่า “พันธบัตรสีเขียว”และตราสารหนี้สีเขียวที่ออกโดยภาคเอกชนจะเรียกว่า “หุ้นกู้สีเขียว” 

ปัจจุบัน ตราสารหนี้สีเขียวเป็นตราสารหนี้ที่มีโอกาสเติบโตสูง ทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทย สอดคล้องกับรายงาน Sustainable Debt Market Summary ประจำไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 ของ Climate Bonds Initiative ที่ระบุว่า ตลาดตราสารหนี้ที่เกี่ยวกับความยั่งยืน (Green, Social, Sustainability and Sustainability-linked Debts) เติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่มีการออกตราสารหนี้ครั้งแรกในปี 2550 โดยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 ตราสารหนี้สีเขียวทั่วโลกมีมูลค่าสะสมตั้งแต่ปี 2550 ประมาณ 3.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 62 ของตราสารหนี้ที่เกี่ยวกับความยั่งยืน และตราสารหนี้สีเขียวที่ออกในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2567 มีมูลค่า 5.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากปีก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นว่า ทั่วโลกกำลังเร่งระดมทุนเพื่อใช้แก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศที่มีตราสารหนี้สีเขียวมากที่สุดคือ จีน มีมูลค่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และรองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่า 1.94 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี ตราสารหนี้สีเขียวในสหรัฐอเมริกาอาจมีมูลค่าลดลง เนื่องจากนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ไม่ได้สนับสนุนการลงทุนในโครงการที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ทำให้การลงทุนและการระดมทุนสำหรับโครงการที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในทวีปอื่น โดยเฉพาะในเอเชียและยุโรปเพิ่มมากขึ้น

ตัวอย่างตราสารหนี้สีเขียวของต่างประเทศ อาทิ (1) อินเดีย ออกพันธบัตรสีเขียวสำหรับสนับสนุนโครงการพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ เพื่อให้อินเดียสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (2) เบลเยียม ออกพันธบัตรสีเขียวเพื่อสนับสนุนโครงการก่อสร้างอาคารสีเขียว ระบบขนส่งที่ใช้พลังงานสะอาด และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (3) สหรัฐอเมริกา บริษัท Apple ออกหุ้นกู้สีเขียวเพื่อระดมทุนสำหรับสนับสนุนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และโครงการพลังงานลม (4) แคนาดา ออกพันธบัตรสีเขียวเพื่อนำไปใช้ในโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การพัฒนาเครื่องมือดักจับคาร์บอน และ (5) ซาอุดีอาระเบีย บริษัท Saudi Electricity Company ออกหุ้นกู้สีเขียวเพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างอาคารสีเขียวและโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 

สำหรับในประเทศไทย มีการออกตราสารหนี้สีเขียวครั้งแรกในปี 2558 ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ประกาศหลักเกณฑ์การเสนอขายตราสารหนี้สีเขียวในปี 2561 โดยในรายงาน Emerging Market Green Bonds ที่จัดทำโดยบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) และ Amundi ระบุว่า ตราสารหนี้สีเขียวของไทยในปี 2566 มีมูลค่าสะสมประมาณ 4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตราสารหนี้สีเขียวในไทยส่วนใหญ่ออกโดยภาคเอกชนและธนาคาร อาทิ (1) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ออกหุ้นกู้สีเขียวเพื่อใช้ในโครงการรถไฟฟ้าที่ใช้พลังงานสะอาด (2) บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ออกหุ้นกู้สีเขียวเพื่อใช้ในโครงการโรงไฟฟ้ากังหันลมในออสเตรเลีย และโครงการรถไฟฟ้าในไทย (3) บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ออกหุ้นกู้สีเขียวเพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโครงการบริหารจัดการขยะแบบครบวงจร (4) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ออกพันธบัตรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อ SMEs (SME Green Bond) สำหรับนำไปปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่จะดำเนินโครงการพลังงานสะอาด และ (5) ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMB THAI) ออกตราสารหนี้สีเขียวเพื่อระดมเงินทุนสำหรับปล่อยกู้ให้กับโครงการเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

ผอ.สนค. กล่าวทิ้งท้ายว่า ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการปรับปรุงกระบวนการผลิต ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถแสวงหาเงินทุนโดยใช้ตราสารหนี้สีเขียวได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ผู้ประกอบการได้พัฒนาประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตแล้ว ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และสนับสนุนให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

UAC เดินหน้าลงทุนเพิ่มโอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืน

UAC เดินหน้าลงทุนเพิ่มโอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืน หนุนรายได้รวมปี 68 โต 15% และ EBITDA มากกว่า 20%

เปิดแล้ว! ท่าเรืออัจฉริยะพระราม 7 ยุคใหม่

เปิดแล้ว! ท่าเรืออัจฉริยะพระราม 7 ยุคใหม่ ที่ใช้พลังงานอย่างชาญฉลาด เชื่อมต่อทุกการเดินทางอย่างสมบูรณ์

SPRC ร่วมกับ เชฟรอน มอบบัตรเติมน้ำมันคาลเท็กซ์ ให้ กทม. 

SPRC ร่วมกับ เชฟรอน มอบบัตรเติมน้ำมันคาลเท็กซ์ ให้ กทม. ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว

OR มอบ พีทีที สเตชั่น พริวิเลจการ์ด  100,000 บาท แก่ กทม.

OR มอบ พีทีที สเตชั่น พริวิเลจการ์ด มูลค่า 100,000 บาท แก่ กทม. สำหรับภารกิจกู้ภัยและค้นหาผู้สูญหายในพื้นที่อาคารถล่ม