กกพ. หนุน ไฟฟ้าสะอาด

Date:

ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. อยู่ระหว่างการพัฒนาและปรับปรุงกฎระเบียบ และโครงสร้างพื้นฐานด้านการกำกับกิจการพลังงานของประเทศ โดยมีเป้าหมายในการรักษาสมดุลในภาคพลังงานคู่ขนานกับการเพิ่มการแข่งขันในกิจการไฟฟ้าและกิจการก๊าซธรรมชาติ รองรับการเปิดเสรีในอนาคต เพื่อให้เปลี่ยนผ่านได้อย่างราบรื่นและยั่งยืนในระยะยาว โดยในปี 2568 จะมุ่งดำเนินการใน 4 ประเด็นหลักประกอบด้วย

1. การผลักดันการสร้างตลาดกลาง (Market Place) เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสีเขียว สนับสนุนการซื้อขายพลังงานสีเขียว ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณความต้องการพลังงานสีเขียวเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องตามทิศทางพลังงานสากล 

2. การเตรียมความพร้อมด้านกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน รวมถึงการกำกับดูแลและสร้างความคล่องตัวในกระบวนการรับรองไฟฟ้าสีเขียว

3. การสร้างความร่วมมือและการแข่งขันที่เป็นธรรม เพื่อให้พลังงานความมั่นคงและเอื้อต่อการขยายตัวด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของประเทศ เชื่อมโยงกับสากลได้

4. การเป็นกลไกกำกับกิจการพลังงานที่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีด้านพลังงานได้อย่างรวดเร็ว รองรับได้ทั้งรูปแบบพลังงานใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นรวมถึงรองรับปริมาณความต้องการพลังงานในอนาคตของผู้ใช้พลังงาน

“เป็นที่ทราบกันดีว่า เราอยู่ในเทรนด์ของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจากพลังงานดั้งเดิมไปสู่พลังงานหมุนเวียน เทคโนโลยีเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดเปลี่ยนเร็วมาก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสุดท้ายคือให้พลังงานสะอาดเข้ามาทดแทนพลังงานดั้งเดิมได้ทั้งหมด และต้องตอบโจทย์ของการทำให้เกิดความมั่นคงและความมีเสถียรภาพให้ได้ ผมมองว่าวันนี้เทคโนโลยีไปถึงเป้าหมายแล้ว แต่ราคายังไม่สามารถไปถึงเป้าหมาย เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนบางอย่างเช่น แสงแดดและลม ถูกลงเรื่อยๆ แต่บางชนิดก็ยังแพงเช่น ไฮโดรเจนสีเขียว หรือเรียกสั้นๆ ว่า กรีนไฮโดรเจน (Green Hydrogen) และเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน ก็ยังแพงอยู่มากสำหรับประเทศไทย” ดร.พูลพัฒน์ กล่าว

ดร.พูลพัฒน์ กล่าวว่า “การกำกับกิจการพลังงานของไทยอยู่ภายใต้หลายๆ ปัจจัยหลักหลายๆ อย่างที่ยังมีความย้อนแย้งกันเองอยู่ การที่ไทยที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ขนาดเศรษฐกิจและรายได้ประชากรยังไม่ได้สูงเท่ากับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ระดับราคาพลังงานโดยเฉพาะไฟฟ้าที่เป็นพลังงานพื้นฐานต้องอยู่ในอัตราที่เหมาะสมประชาชนผู้ใช้พลังงานส่วนใหญ่ของประเทศและรับได้ เป็นข้อจำกัดที่ยังไม่สามารถนำเอาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน หรือระบบกักเก็บพลังงานใหม่ๆ เข้ามาสู่ระบบได้อย่างเต็มที่ เพราะไม่สามารถผลักภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นให้กับประชาชนได้ทั้งหมดในทันที”

ในขณะที่อีกด้านหนึ่งประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาระดับเดียวกันกับเราหลายประเทศต่างเผชิญกับกระแสของการกดดันและกีดกันการใช้พลังงานฟอสซิลจากกลุ่มประเทศผู้นำเศรษฐกิจของโลก 

ที่มีความจำเป็นต้องเอาตัวรอดจากมาตรการกีดกันทางการค้าด้วยภาษี อย่างเช่น มาตรการการเรียกเก็บภาษีคาร์บอนข้ามแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) และคาดว่าจะมีมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีใหม่ๆ ทยอยประกาศใช้ตามมาอย่างเข้มข้นมากขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากความตกลงของประเทศมหาอำนาจที่ไม่เป็นไปในทิศเดียวกัน

นอกจากนี้ความจำเป็นที่ต้องพัฒนาและมีแหล่งพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่องในระดับราคาและเงื่อนไขที่ดีกว่าประเทศคู่แข่งขัน เพื่อเป็นการจูงใจสนับสนุนให้เกิดการขยายการลงทุนให้กับธุรกิจข้ามชาติขนาดใหญ่เพื่อสร้างโอกาสให้กับภาคเศรษฐกิจของประเทศในอีกด้านหนึ่งด้วย 

ดร.พูลพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากเหตุผลและปัจจัยข้างต้น สำนักงาน กกพ. วางกรอบแนวทางการดำเนินงานในระยะต่อไปภายใต้หลักการ แยกโครงสร้างต้นทุนส่วนที่เพิ่มขึ้นออกมา กำกับวิธีการคำนวณ รูปแบบการเรียกเก็บค่าบริการ ภายใต้เพดานที่เหมาะสม อย่างโปร่งใส เป็นธรรม 

สำนักงาน กกพ. กำหนดเงื่อนไขดังนี้ (1) แนวทางการจัดหาไฟฟ้าหรือพลังงานสะอาดจะต้องไม่กระทบต่อค่าไฟเฉลี่ยโดยรวมที่เรียกเก็บกับประชาชนผู้ใช้พลังงานตามปกติ (2) สำหรับค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการเรียกเก็บค่าบริการเพิ่มเติมต้องเป็นภาระของผู้ที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสะอาดเป็นหลัก (3) กำกับดูแลผู้ประกอบการรับอนุญาตตั้งแต่ต้นทาง เริ่มตั้งแต่วิธีคิดคำนวณต้นทุนมีเพดานที่เหมาะสม แยกแยะประเภทค่าบริการ และวิธีการเรียกเก็บอัตราค่าบริการส่วนเพิ่มให้เหมาะสม (4) ดูแลการแข่งขันให้เกิดความเหมาะสมเพื่อผู้ใช้พลังงานได้ประโยชน์สูงสุดจากการแข่งขัน และ (5) อัตราค่าบริการต้องหนุนเสริมภาคเศรษฐกิจการค้า การลงทุน ของประเทศเป็นสำคัญ  

สำหรับแผนงานในปี 2568 ภายใต้กรอบ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่

1. การเริ่มให้บริการ-ไฟฟ้าสีเขียวแบบผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เจาะจงแหล่งที่มา (Utility Green Tariff1: UGT1) ในเดือนเมษายน 2568 ซึ่ง กฟผ. กฟน. และ กฟภ. จัดเตรียม UGT1 ไว้รองรับความต้องการเป็นปริมาณรวมประมาณ 2,000 ล้านหน่วยต่อปี สำหรับการเปิดให้บริการไฟฟ้าสีเขียวแบบผู้ใช้ไฟฟ้าเจาะจงแหล่งที่มา (Utility Green Tariff2: UGT2) ที่รองรับความต้องการเป็นปริมาณรวมประมาณ 8,000 ล้านหน่วยต่อปี จะเริ่มเปิดให้ผู้ใช้ไฟฟ้าลงทะเบียนสมัครใช้บริการภายในเดือนมิถุนายน 2568 รวมถึงการกำหนดกฎเกณฑ์และแนวทางในการรับรองแหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียวตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะเป็นสะพานไปสู่การพัฒนาตลาดไฟฟ้าสีเขียวและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในอนาคต

2. กำกับกิจการไฟฟ้าตามนโยบายโครงการนำร่องการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Direct Power Purchase Agreement: Direct PPA ได้แก่ จัดทำหลักเกณฑ์และแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการการใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่สาม และการกำกับติดตามการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (TPA Code) ตามนโยบาย Direct PPA ซึ่งปัจจุบัน อยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) เพื่อกำหนดกรอบการดำเนินการร่วมกันตามมติ กพช. ซึ่งในส่วนงานที่สำนักงาน กกพ. รับผิดชอบ คาดว่าแล้วเสร็จภายในกันยายน 2568

3. กำกับกิจการก๊าซธรรมชาติตามแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 โดย จัดทำแนวทางการบริหารการใช้ LNG Terminal แบบเสมือน (Virtual Inventory) และเสนอต่อภาคนโยบายภายในเดือนกันยายน 2568 เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพในการใช้งาน LNG Terminal ร่วมกันระหว่างผู้ใช้บริการหลายราย ตลอดจนจัดทำระบบข้อมูลราคาก๊าซ (Pool Gas) ทั้งประมาณการราคา และราคา Pool Gas จริง เพื่อให้ผู้รับใบอนุญาต ผู้ใช้พลังงานสามารถเข้าถึงข้อมูลและนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ ในมิติของความมั่นคงทางพลังงาน ภายหลังจากที่ กกพ. มีการออกระเบียบ กกพ. ว่าด้วยมาตรฐานวิศวกรรมและความปลอดภัยในการประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2567 ก็จะมีการกำกับผู้รับใบอนุญาตที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านก๊าซธรรมชาติ ให้ดำเนินการตามมาตรฐานที่กำหนดภายในปี 2568 

4. ดำเนินการพัฒนากลไกการกำกับกิจการพลังงานเพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีพลิกโฉม (Disruptive Technology) โดยดำเนินการศึกษารูปแบบการดำเนินการสำหรับ Disruptive Technology ต่างๆ ในต่างประเทศ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้สำหรับประเทศไทย ได้แก่ การตอบสนองด้านโหลด (Demand Response), Microgrid, RE Forecast, Aggregator, Battery Storage และ EV และจัดทำข้อกำหนดหรือปรับปรุงแก้ไขระเบียบหรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องรองรับ Disruptive Technology ต่างๆ รวมถึงจัดทำคู่มือการกำกับกิจการพลังงานรองรับ Disruptive Technology ตามแผนการขับเคลื่อน Smart Grid คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จภายในกันยายน 2568

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

UAC เดินหน้าลงทุนเพิ่มโอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืน

UAC เดินหน้าลงทุนเพิ่มโอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืน หนุนรายได้รวมปี 68 โต 15% และ EBITDA มากกว่า 20%

เปิดแล้ว! ท่าเรืออัจฉริยะพระราม 7 ยุคใหม่

เปิดแล้ว! ท่าเรืออัจฉริยะพระราม 7 ยุคใหม่ ที่ใช้พลังงานอย่างชาญฉลาด เชื่อมต่อทุกการเดินทางอย่างสมบูรณ์

SPRC ร่วมกับ เชฟรอน มอบบัตรเติมน้ำมันคาลเท็กซ์ ให้ กทม. 

SPRC ร่วมกับ เชฟรอน มอบบัตรเติมน้ำมันคาลเท็กซ์ ให้ กทม. ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว

OR มอบ พีทีที สเตชั่น พริวิเลจการ์ด  100,000 บาท แก่ กทม.

OR มอบ พีทีที สเตชั่น พริวิเลจการ์ด มูลค่า 100,000 บาท แก่ กทม. สำหรับภารกิจกู้ภัยและค้นหาผู้สูญหายในพื้นที่อาคารถล่ม