นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พร้อมด้วยนายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ประกาศลาออกจากการเป็นกรรมการและผู้บริหาร เพื่อความโปร่งใสและเปิดโอกาสให้เกิดการตรวจสอบได้อย่างเต็มที่ มั่นใจในความบริสุทธิ์ พร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการสอบสวน
กรณีเรื่องการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ และ/หรือการจัดซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่นครสวรรค์และลำปาง ยืนยันว่าไม่ได้ร่วมกันทำทุจริต เพราะกระบวนการในการจัดจ้างผู้รับเหมาเป็นการคัดเลือกผ่านมติคณะกรรมการบริษัท ซึ่งเป็นการรับเหมาแบบทั้งโครงการ (Turn Key) มีการทำสัญญาก่อสร้างแบบ Engineering Procurement and Construction Contract (EPC) โดยผู้รับเหมาเป็นผู้ออกแบบ จัดซื้อ ก่อสร้างและติดตั้งระบบงานต่างๆของโครงการทั้งหมด การจัดซื้ออุปกรณ์เป็นหน้าที่และเป็นอำนาจการตัดสินใจของผู้รับเหมาไม่ได้เป็นการตัดสินใจของบริษัท ของสมโภชน์ หรือของอมร โดยผู้รับเหมาจะได้รับรายละเอียดของโครงการรวมทั้งรายการอุปกรณ์ที่ต้องไปจัดหา โดยกำหนดยี่ห้อของแต่ละอุปกรณ์มากกว่า 1 ยี่ห้อ แล้วให้ผู้รับเหมาไปตัดสินใจเลือกซื้อเอง ทั้งนี้การกำหนด specification ของอุปกรณ์หลักต้องได้รับการอนุมัติโดยที่ปรึกษาด้านเทคนิคของโครงการที่แต่งตั้งโดยสถาบันการเงินซึ่งเป็นที่ปรึกษาระดับโลกที่มีความเป็นอิสระไม่สามารถชี้นำหรือควบคุมได้ โดยที่ปรึกษาด้านเทคนิคของโครงการยังได้ให้ความเห็นว่าค่าก่อสร้างของโครงการเหมาะสมเมื่อเทียบกับโครงการอื่นๆในช่วงเวลานั้น อย่างที่เห็นประจักษ์แล้วว่า ต้นทุนการก่อสร้างโครงการบริษัทเมื่อเปรียบเทียบกับค่าก่อสร้างของโครงการลักษณะคล้ายกันของบริษัทอื่นๆที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงเวลาเดียวกัน โครงการของอีเอก็มีต้นทุนที่ต่ำที่สุดและมีประสิทธิภาพในการทำกำไรสูงสุด จนทำให้เกิดผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) สูงสุด
อย่างไรก็ตาม ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษมานั้นเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฏหมาย ยังไม่ได้ถือว่าขณะนี้นายสมโภชน์และนายอมรเป็นบุคคลผู้กระทำผิด และพร้อมให้ความร่วมมือเพื่อพิสูจน์ความจริงให้เป็นที่ประจักษ์ต่อไป
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เหตุที่ใช้เวลาดำเนินการนาน เพราะ ก.ล.ต. ได้รับเรื่องร้องเรียนในช่วงปลายปี 2559 และได้ตั้งประเด็นตรวจสอบหลายประเด็น เกี่ยวพันกันหลายมาตรา มีความซับซ้อนในการตรวจสอบ และมีข้อมูลที่ต้องพิจารณาจำนวนมากในแต่ละประเด็น นอกจากนี้ ตามกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย ก.ล.ต. ให้เวลาและโอกาสผู้ต้องสงสัยชี้แจงอย่างเต็มที่เพื่อความเป็นธรรม ทั้งกรณีการเรียกมาสอบถ้อยคำและการให้ชี้แจงเป็นหนังสือ อย่างไรก็ดี ก.ล.ต. ได้ประสานหน่วยงานกำกับในต่างประเทศหลายแห่งและได้ความร่วมมือรวมเป็นอย่างดี
คดีนี้มีอายุความกี่ปีนั้น การกระทำความผิดเกิดในช่วงปี 2556 ถึงปี 2558 ต่อเนื่องกัน โดยกรณีนี้เป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 311 ซึ่งมีอายุความ 15 ปี จึงจะหมดอายุความในปี 2573 (นับแต่ปี 2558)
ส่วนกรณีความผิดตามมาตรา 281/2 วรรคสอง ประกอบมาตรา 89/7 และมาตรา 89/24 มีอายุความ 10 ปี จึงจะหมดอายุความในปี 2568 (นับแต่ปี 2558)
สาเหตุเหตุใดกรณีนี้จึงดำเนินคดีทางอาญา เพราะกรณีเป็นความผิดทุจริตมาตรา 311 ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา จึงไม่สามารถใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งได้ (มาตรา 311 และมาตรา 281/2 วรรคสอง ไม่ได้รวมอยู่ในมาตรา 317/1)
นอกจากนี้ การกล่าวโทษในกรณีนี้ มีผลให้ผู้ถูกกล่าวโทษเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน จึงไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนนับตั้งแต่วันที่ถูกกล่าวโทษไปจนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี ตามประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ กจ. 3/2560 เรื่อง การกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารของบริษัท https://publish.sec.or.th/nrs/7200s.pdf
สำหรับโทษสูงสุดตามกฎหมายในกรณีนี้กรณีผู้กระทำผิดเป็นกรรมการ/ผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียนที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีโทษตามมาตรา 313 คือ ระวางโทษจำคุก 5 – 10 ปี และปรับเงิน 2 เท่าของราคาทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่บุคคลดังกล่าวได้กระทำการฝ่าฝืน
กรณีผู้กระทำผิดเป็นผู้สนับสนุนมีโทษตามมาตรา 311 ตามความในมาตรา 315 ไม่ต้องรับโทษตามมาตรา 313 เนื่องจากไม่ได้เป็นกรรมการ/ผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียน ตาม พรบ.หลักทรัพย์
ทั้งรี้ ก.ล.ต. ได้รับเบาะแสการกระทำผิด หรือ มีจุดเริ่มต้นของการดำเนินการจากที่ ก.ล.ต. ได้รับเรื่องร้องเรียนว่า EA อาจมีการทุจริตผ่านบริษัทย่อยในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า 2 แห่ง พร้อมส่งหลักฐานที่เกี่ยวข้องบางส่วน จึงได้ตรวจสอบหาความจริงและความถูกต้องเป็นไปตามข้อร้องเรียนหรือไม่ ซึ่งได้ทำการตรวจสอบข้อมูลผ่านหน่วยงาน ก.ล.ต. หลายประเทศ พบว่า บุคคลทั้งสามกระทำผิดจริง จึงได้กล่าวโทษ
หลังจากที่ ก.ล.ต. กล่าวโทษแล้วต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนจะสืบสวนสอบสวนรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน และเสนอความเห็นเกี่ยวกับคดีไปยังพนักงานอัยการ และพนักงานอัยการจะพิจารณาความสมบูรณ์ครบถ้วนของสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ก่อนมีความเห็นสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาตามสำนวนการสอบสวนดังกล่าว และในคดีที่พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาเป็นจำเลยแล้ว ศาลยุติธรรมจะเป็นผู้พิจารณาและพิพากษาต่อไป
ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดีและร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ พื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายในกระบวนการภายหลัง ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษแล้ว