
นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลากว่า 55 ปี เบทาโกรมุ่งมั่นส่งมอบผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพที่ดีกว่าและมีความปลอดภัยที่สูงกว่าในราคาที่เป็นธรรม เพื่อให้ประชาชนและชุมชนมีคุณภาพชีวิตดียิ่งขึ้น
“เวลานี้นับได้ว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับเบทาโกรที่จะก้าวสู่การเติบโตครั้งสำคัญผ่านการเสนอขายหุ้น IPO และนำหุ้น BTG เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมทั้งยังได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากนักลงทุนสถาบันชั้นนำทั่วโลก” นายวสิษฐ กล่าวเสริม
นางศิริวรรณ อินทรกำธรชัย ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มงานบริหารการเงิน บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG กล่าวว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เบทาโกรสามารถสร้างการเติบโตของรายได้อย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 7.3% ต่อปี โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 เบทาโกรมีรายได้รวม 54,193.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
สำหรับเงินที่ได้รับจากการระดมทุนในครั้งนี้ เบทาโกรวางแผนที่จะเงินไปลงทุนเพื่อการเข้าซื้อ และ/หรือก่อสร้างฟาร์มและโรงงานแห่งใหม่ประมาณ 8,000 ล้านบาท การปรับโครงสร้างเงินทุนผ่านการชำระหนี้สินระยะสั้นและ/หรือระยะยาวให้แก่สถาบันการเงินประมาณ 8,960 – 10,500 ล้านบาท และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินงาน ไม่เกิน 1,021 ล้านบาท
นายอนุวัฒน์ ร่วมสุข กรรมการผู้จัดการ ประธานสายวานิชธนกิจและตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวถึงความคืบหน้าแผนการเสนอขายหุ้น IPO และการนำหุ้น BTG เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในครั้งนี้ว่า “ในช่วงระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา คณะผู้บริหารของเบทาโกรได้พบปะกับนักลงทุนสถาบันชั้นนำทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศเพื่อนำเสนอข้อมูลบริษัท โดยได้รับกระแสตอบรับที่ดี แม้อยู่ในสภาวการณ์เศรษฐกิจและการลงทุนที่มีความผันผวนสูง เนื่องจากอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารจะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่จะมีโอกาสได้รับผลกระทบในเชิงบวก โดยได้กำหนดราคาเสนอขายที่ 40.00 บาทต่อหุ้น พร้อมมีนักลงทุนสถาบันชั้นนำทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศเข้าลงนามในสัญญาลงทุนในหุ้น BTG เพื่อเป็น Cornerstone Investors ทั้งหมด 25 ราย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 7,286 ล้านบาท หรือคิดเป็น 77.1% ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายให้แก่นักลงทุนสถาบันทั่วโลกในเบื้องต้น (ไม่รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) การตกลงลงทุนก่อนของนักลงทุนประเภท Cornerstone Investors ดังกล่าว สะท้อนถึงปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของเบทาโกรในฐานะบริษัทอาหารชั้นนำระดับสากลที่มีโมเดลธุรกิจที่แตกต่าง ผ่านกระบวนการดำเนินงานที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ และศักยภาพในการสร้างเติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ผมเชื่อว่า BTG จะเป็นหุ้นคุณภาพที่มีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งอีกหนึ่งตัวสำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในตลาดทุนไทย”
นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า “การระดมทุนครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของเบทาโกรที่จะสร้างโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เนื่องจากฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และมีความพร้อมขยายธุรกิจในทุกๆ ด้าน เพื่อเสริมศักยภาพการแข่งขันในอนาคต โดยการเสนอขายหุ้นสามัญของ BTG ในครั้งนี้ จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนที่เป็นลูกค้าของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์สามารถจองซื้อหุ้นในระหว่างวันที่ 10 – 12 และ 17 ตุลาคมนี้ โดยปัจจุบันแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และหนังสือชี้ชวน (แบบไฟลิ่ง) ได้รับการอนุมัติจากสำนักงาน ก.ล.ต. และได้มีผลบังคับเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา”
ในการเสนอขายหุ้นสามัญของ BTG ในครั้งนี้ มีจำนวนไม่เกิน 500.0 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ (รวมจำนวนหุ้นที่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินอาจใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากบริษัทฯ ในกรณีที่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) ประกอบไปด้วยหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 434,800,000 หุ้น หรือไม่เกิน 21.7% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดหลัง IPO บนสมมติฐานว่ามีการใช้สิทธิซื้อหุ้นส่วนเกินเต็มจำนวน และอาจพิจารณาจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Overallotment Option) จำนวนไม่เกิน 65,200,000 หุ้น หรือคิดเป็น 15.0% ของจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายตั้งต้น ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินไปใช้ในการรักษาระดับราคาหุ้น (Stabilization) ในช่วง 30 วันแรกหลังจากที่หุ้น BTG เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อช่วยลดความผันผวนของราคาหุ้นและเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน
โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย รวมทั้งมีผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายอีก 6 ราย ประกอบด้วย (1) บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (2) บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) (3) บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด (4) บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด (5) บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และ (6) บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด โดยบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) จะทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินและดำเนินการรักษาเสถียรภาพของราคาหุ้น (Overallotment and Stabilizing Agent)