นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568 – 2571) สาระสำคัญของแผนการคลังระยะปานกลางฯ
แผนการคลังระยะปานกลางฯ ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ ส่วนที่ 2 สถานะและประมาณการการคลัง และส่วนที่ 3 เป้าหมายและนโยบายการคลัง โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1 สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ
ในปี 2568 คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.1 – 4.1 (ค่ากลางร้อยละ 3.6) และอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5 – 2.5 สำหรับในปี 2569 และ 2570 คาดว่า GDP จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.9 – 3.9 (ค่ากลางร้อยละ 3.4) และ ในปี 2571 จะขยายตัวร้อยละ 2.7 – 3.7 (ค่ากลางร้อยละ 3.2) สำหรับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2569 – 2571 จะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5 – 2.5
2 สถานะและประมาณการการคลัง
2.1 ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2568 – 2571 เท่ากับ 2,887,000 3,040,000 3,204,000 และ 3,394,000 ล้านบาท ตามลำดับ
2.2 ประมาณการงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2568 – 2571 เท่ากับ 3,600,000 3,743,000 3,897,000 และ 4,077,000 ล้านบาท ตามลำดับ
2.3 จากประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิและงบประมาณรายจ่ายดังกล่าวในปีงบประมาณ 2568 – 2571 รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณจำนวน 713,000 703,000 693,000 และ 683,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.56 3.33 3.11 และ 2.92 ต่อ GDP ตามลำดับ
2.4 ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 มีจำนวน 11,131,634 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 62.44 ของ GDP และประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สำหรับปีงบประมาณ 2568 – 2571 เท่ากับร้อยละ 63.73 64.07 และ 63.61 ตามลำดับ
3 เป้าหมายและนโยบายการคลัง
เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันพร้อมรับความเสี่ยงต่าง ๆ หรือสถานการณ์ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ควบคู่กับการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ภาครัฐจึงมีความจำเป็นในการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อตอบสนองความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม และทันการณ์