นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) (“ธนาคารฯ” หรือ “ธนาคารไทยเครดิต”) กล่าวว่า ขอขอบคุณทุกความเชื่อมั่น ทำให้การจองซื้อหุ้น IPO ของธนาคารไทยเครดิต สำหรับผู้จองซื้อรายย่อยในประเทศครั้งนี้ ซึ่งเปิดให้จองซื้อระหว่างวันที่ 23 – 26 มกราคม 2567 โดยมีผู้จองซื้อรายย่อยแสดงความสนใจลงทุนเป็นจำนวนมาก ให้ความเชื่อมั่นร่วมเป็นส่วนหนึ่งของหุ้น IPO ธนาคารพาณิชย์ที่เข้ามาระดมทุนในรอบ 10 ปี
พร้อมเดินหน้านำเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ 1,876 ล้านบาท ใช้เสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินกองทุนของธนาคารฯ เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับการขยายพอร์ตสินเชื่อ รวมทั้ง ปรับปรุงและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล (Digital Transformation) และโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัยของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Security and Infrastructure)
นายพัชระนนท์ ชีวเกรียงไกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จํากัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เปิดเผยว่า หลังจาก ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) ได้กำหนดช่วงราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ราคาหุ้นละ 28.00 – 29.00 บาทต่อหุ้น และเปิดให้นักลงทุนรายย่อยจองซื้อหุ้น IPO ที่ราคา 29.00 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายดังกล่าว พร้อมกับสำรวจความต้องการจองซื้อหุ้น IPO ของนักลงทุนสถาบัน (Bookbuilding) ในการจัดสรรหุ้น ได้จัดสรรให้นักลงทุนสถาบันประมาณ 87% และจัดสรรให้นักลงทุนรายย่อยประมาณ 13%
นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า ล่าสุด ได้กำหนดราคาเสนอขายสุดท้ายหุ้น IPO ของธนาคารไทยเครดิต ที่ราคา 29.00 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้น พร้อมดำเนินการเปิดจองซื้อสำหรับผู้ลงทุนสถาบันที่จองซื้อในประเทศ (รวมถึงผู้ลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors ที่จองซื้อในประเทศ) นิติบุคคลที่สามารถเข้าร่วมการสำรวจความต้องการซื้อ และผู้ลงทุนที่จองซื้อในต่างประเทศ (รวมถึงผู้ลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors ที่จองซื้อในต่างประเทศ) ผ่านผู้ซื้อหุ้นเบื้องต้นในต่างประเทศ (Initial Purchaser) ระหว่างวันที่ 31 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ทั้งนี้ ธนาคารไทยเครดิต ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors รวมจำนวน 6 ราย คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณไม่เกิน 140,352,490 หุ้น ที่ราคาเสนอขายสุดท้าย หรือคิดเป็นประมาณ 55% ของจำนวนหุ้นที่ขายใน IPO ครั้งนี้
นางสาวนลิน วิริยะเสถียร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวเสริมว่า ธนาคารไทยเครดิต เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกและเสนอขายโดยธนาคารฯ และหุ้นสามัญที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิม จำนวน 254,124,200 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 5.00 บาท/หุ้น คิดเป็นไม่เกิน 20.7% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของธนาคารฯ ภายหลังการทำ IPO โดยทางผู้ถือหุ้นเดิมมีความประสงค์ที่จะถือหุ้นบางส่วนต่อไป เนื่องจากทางผู้ถือหุ้นเดิมเล็งเห็นถึงศักยภาพการเติบโตของธนาคารไทยเครดิตในอนาคต โดยคาดจะนำหุ้น CREDIT เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในหมวดกลุ่มธุรกิจการเงิน / ธนาคาร ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ และเชื่อมั่นว่า จะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ลงทุน ชูจุดเด่น ธนาคารไทยเครดิต ถือเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มี NIM (Net Interest Margin) สูงสุดในอุตสาหกรรม มีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (Cost to Income Ratio) ต่ำที่สุดในอุตสาหกรรม และอัตราการเติบโตของสินเชื่อสูงสุดในอุตสาหกรรม รวมถึง แผนการเติบโตสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ลงทุนในระยะยาว
นายกนต์ธีร์ ประเสริฐวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน เปิดเผยว่า ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย ( Nano and Micro Finance ) และสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี ( Micro SME ) ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าในประเทศไทยที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้เท่าที่ควร รวมไปถึง บริการเงินฝาก และบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจธนาคารฯ
สำหรับผลการดำเนินงานปี 2563-2565 และงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 ธนาคารฯ มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 6,370.9 ล้านบาท 8,493.6 ล้านบาท 11,052.3 ล้านบาท และ 9,783.8 ล้านบาท ตามลำดับ มีกำไรสุทธิ 1,372.9 ล้านบาท 1,935.0 ล้านบาท 2,352.5 ล้านบาท และ 2,816.7 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROE) เท่ากับ 18.0% 20.7% 18.9% และ 21.8% ตามลำดับ สำหรับปี 2563-2565 และงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ของธนาคารฯ มีจำนวนเท่ากับ 68,562.4 ล้านบาท 97,728.7 ล้านบาท 121,298.0 ล้านบาท และ 138,435.1 ล้านบาท ตามลำดับ อัตราเติบโตโดยเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) อยู่ที่ 33.0% ต่อปี (2563-2565) โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเติบโตในทุกกลุ่มสินเชื่อหลักของธนาคารฯ ทั้งสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี สินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย และสินเชื่อบ้านแลกเงิน
*การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน และโปรดอ่านหนังสือชี้ชวน หรือข้อมูลที่มีสาระตรงตามข้อมูลสรุปสาระสำคัญของหลักทรัพย์ (Executive Summary) อย่างรอบคอบ