เศรษฐกิจนอกระบบ “ผยง ศรีวณิช” แนะ 3  ทางออกแก้ปัญหา

Date:

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่าประเทศไทยมี เศรษฐกิจนอกระบบ ขนาดใหญ่ ทำให้มีปัญหาในหลายด้าน ทั้ง รายได้ต่อหัวอยู่ในระดับต่ำ ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำสูง  

นอกจากนี้ การกำกับดูแลและธรรมาภิบาลต่ำ มีผลิตภาพต่ำ มีความยืดหยุ่นและภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจต่ำ

โดยภาพสะท้อนความรุนแรงของปัญหา เศรษฐกิจนอกระบบ ของไทย คือ

1 ประเทศไทยมีเศรษฐกิจนอกระบบคิดเป็นสัดส่วนถึง 48.4% ของ GDP มากเป็นอันดับ 14 ของโลก จาก 158 ประเทศที่มีฐานข้อมูลของ World bank โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่อยู่ที่ 32.7% และสูงกว่าเกือบทุกประเทศในเอเชีย  

2 มีผู้ที่อยู่ในฐานระบบภาษีน้อย จากประชากรทั้งหมด 66 ล้านคน มีผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพียง 10-11 ล้านคน และมีผู้ที่มีภาระภาษีต้องจ่ายแค่ 4 ล้านคน ทำให้รัฐมีฐานรายได้แคบ และไม่พอรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย

3 แรงงานเกินกว่าครึ่งหนึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ ข้อมูลล่าสุดชี้ว่า มีแรงงานนอกระบบอยู่ราว 20 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 51% ของจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมด ซึ่งอาจเป็นกลุ่มที่มีผลิตภาพแรงงานต่ำ มีความเปราะบางจากการขาดความคุ้มครองหรือไม่มีหลักประกันทางสังคม

4 หนี้นอกระบบอยู่ในระดับสูง ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 90.7% ต่อ GDP เพิ่มขึ้นจาก 76% เมื่อ 10 ปีก่อน แต่ในจำนวนนี้ยังไม่นับรวมหนี้นอกระบบ ซึ่งอาจมีมูลค่าสูงถึง 3.97 ล้านล้านบาท  จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งแปลว่า หนี้ครัวเรือนต่อ GDP อาจสูงถึง 110% 

นอกจากนี้ ยังขาดแคลนตัวเลขมูลค่าหนี้นอกระบบที่เชื่อถือได้และสอดคล้องกัน เพราะหากดูตัวเลขที่สภาพัฒน์ฯ เปิดเผย จะพบว่าหนี้นอกระบบอยู่ที่ 1.35 แสนล้านบาท ซึ่งต่างกันมากกับตัวเลขผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

5 ความเหลื่อมล้ำสูง โดยข้อมูลจาก World Bank ชี้ว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และความมั่งคั่งสูง โดยคนไทยที่มีรายได้สูงสุด 10% แรก คิดเป็นสัดส่วน 48.8% ขณะที่คนไทยที่มีความมั่งคั่งสูงสุด 10% แรกคิดเป็นสัดส่วน 74.2% ซึ่งสูงกว่าหลายประเทศในอาเซียน

6 มีธุรกิจนอกระบบจำนวนมาก ปัจจุบันมีจํานวน SME อยู่ราว 3.2 ล้านราย แต่เป็นนิติบุคคลเพียง 8.4 แสนราย หรือคิดเป็น 26% หมายความว่า มี SME จำนวนมากถึงเกือบ 2.4 ล้านราย หรือ 74% ที่ไม่มีข้อมูลงบการเงินในระบบฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้อาจไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบธนาคารพาณิชย์ได้  หรือเผชิญต้นทุนที่สูง  จากการกู้สินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อไปดำเนินธุรกิจ

ทั้งนี้ ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องลดขนาดเศรษฐกิจนอกระบบ เพื่อตอบโจทย์การเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งมีเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ  3 เรื่องคือ

1 ลดต้นทุนแฝงจากเศรษฐกิจนอกระบบ ผลักดันขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยอาศัยข้อมูล เป็น Data Driven Economy และต้องเปิดกว้าง โปร่งใส นำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้อง ครอบคลุม ลดความเหลื่อมล้ำ  โดยจะต้องมีการ design platform ข้อมูลอย่างเป็นระบบ  เชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐ ที่กระจัดกระจายอยู่หลายกระทรวง เพื่อให้ประเทศมีเครื่องมือกำหนดเป้าหมายของนโยบายได้ตรงจุด ประเมินผลนโยบายต่างๆ ของรัฐได้อย่างแม่นยำ มีตัวอย่างให้เห็นในประเทศชิลี ที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ

2 เร่งส่งเสริม SME เข้าสู่ธุรกิจในระบบ โดยมี Incentive ที่เหมาะสม เช่น การเข้าสู่ระบบหรือการเป็นธุรกิจที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายจะสามารถเข้าร่วมโครงการภาครัฐต่างๆ ได้ เป็นประโยชน์ต่อการเข้าถึงสินเชื่อ  บนต้นทุนที่เหมาะสม รวมถึงช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ก้าวทันกระแสโลก และส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ซึ่งไทยมี Gap ที่ต้องเร่งพัฒนาอยู่หลายด้าน ทั้งด้าน Sustainability ด้าน Resilience และด้าน Inclusiveness ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจต้องเร่งพัฒนาในด้านเหล่านี้อย่างมาก เช่น การยกระดับกฎหมาย เปิดทางให้เกิดประสิทธิภาพ รวมถึงการยกระดับแนวทางการปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรมกับ SME ทั้งในเรื่องของ Credit Term หรือการรับรองสินค้า เพื่อให้ SME มีอำนาจต่อรองอย่างเป็นธรรมกับรายใหญ่มากขึ้น

3 แก้หนี้นอกระบบ  ภาครัฐต้องเร่งเครื่องในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนโดยเฉพาะหนี้นอกระบบ หลังผลสำรวจพบว่าครัวเรือนมีโอกาสที่จะพึ่งพาหนี้นอกระบบมากขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อย  จากผลสำรวจล่าสุดของ ธปท.สะท้อนว่า ยังมีครัวเรือน 27% ที่เข้าไม่ถึงผู้ให้บริการสินเชื่อในระบบ โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพอิสระ ลูกจ้างเอกชนและลูกจ้างรัฐบาลที่มีรายได้น้อย ทำให้บางส่วนต้องพึ่งพาหนี้นอกระบบ  โดยการแก้หนี้นอกระบบต้องทำควบคู่กับการยกระดับรายได้เพราะพบว่า การเป็นหนี้มีสาเหตุสำคัญจากการมีรายได้ไม่พอรายจ่าย  พร้อมปฏิรูปข้อมูลหนี้ทั้งในและนอกระบบ สร้างฐานข้อมูลที่ครบถ้วนและเชื่อถือได้มากขึ้น

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

พพ.แจงภารกิจคืนพื้นที่ เกาะร้อยไร่ สำเร็จ 

พพ.แจงภารกิจคืนพื้นที่ เกาะร้อยไร่ สำเร็จ ไม่มีผู้บุกรุกเหลืออยู่ในพื้นที่อีกต่อไป ประกาศปิดพื้นที่เด็ดขาด ห้ามบุกรุกซ้ำ

“บสย. พร้อมค้ำ พร้อมช่วย” สำเร็จเกินคาด

กิจกรรมแก้หนี้เชิงรุก “บสย. พร้อมค้ำ พร้อมช่วย” สำเร็จเกินคาด ช่วย SMEs ลูกหนี้ที่ บสย. จ่ายเคลม “ปลดหนี้” สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ประกาศจุดยืน “อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ”

โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ร่วมเวที CEO Forum ประกาศจุดยืน "อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ" สู่อนาคต Net Zero

“นายกฯแพทองธาร” เป็นสักขีพยานลงนาม FTA ไทย – ภูฏาน

“นายกฯแพทองธาร” เป็นสักขีพยานลงนาม FTA ไทย - ภูฏาน FTA ฉบับที่ 17 ของไทย เปิดตลาดใหม่สู่เอเชียใต้