ประกาศเกณฑ์ ตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank)

Date:

นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) เพื่อเปิดให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี การให้บริการดิจิทัล และการใช้ข้อมูลที่หลากหลาย เข้ามาให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัล เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการแต่ละกลุ่มได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ใช้บริการรายย่อยและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ยังไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเพียงพอหรือตรงความต้องการ สร้างประสบการณ์ในการใช้บริการทางการเงินที่ดีขึ้นแก่ผู้ใช้บริการ รวมทั้งช่วยกระตุ้นการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินไทยอย่างเหมาะสม โดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน หรือเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของผู้ฝากเงินหรือผู้ใช้บริการในวงกว้าง

ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ Virtual Bank ที่สร้างประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทยได้อย่างยั่งยืนตามเป้าหมายข้างต้น ธปท. จะพิจารณาคำขออนุญาต โดยให้ความสำคัญกับคุณสมบัติ ศักยภาพ และความสามารถของผู้ขออนุญาตในการประกอบธุรกิจ Virtual Bank ตามรูปแบบและแผนที่เสนอมา ทั้งในด้าน

(1) ประสบการณ์ ทรัพยากร และความสามารถในการดำเนินธุรกิจ Virtual Bank โดยนำเสนอบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการแต่ละกลุ่มได้ดียิ่งขึ้น

(2) ธรรมาภิบาลและความสามารถของผู้ขออนุญาตและผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญใน ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา

(3) ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และความสามารถในการประกอบธุรกิจที่มีการใช้เทคโนโลยีและให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล

(4) ความสามารถในการใช้และบริหารจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ยืดหยุ่น มั่นคง ปลอดภัย และสามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการพัฒนาบริการทางการเงินที่ตอบสนองต่อสถานการณ์หรือความต้องการของผู้ใช้บริการได้อย่างคล่องตัว

(5) ประสบการณ์และความสามารถในการได้มา เข้าถึง บริหารจัดการ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่หลากหลาย รวมถึงการพัฒนาระบบหรือส่วนเชื่อมต่อข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการให้สามารถนำข้อมูลของตนไปใช้ในการทำธุรกรรมกับผู้ให้บริการรายอื่นภายใต้สิทธิตามกฎหมาย

(6) ความสามารถในการบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวกับธุรกิจการเงิน

และ (7) ความสามารถในการสนับสนุนทางการเงินอย่างเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา อย่างต่อเนื่องของผู้ถือหุ้นสำคัญ

นอกจากนี้ ธปท. จะคำนึงถึงการมีธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่ที่มีศักยภาพและความสามารถในจำนวนที่เหมาะสมกับระบบสถาบันการเงินในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการแข่งขันเพื่อประโยชน์ต่อผู้ฝากเงิน ผู้ใช้บริการ และระบบเศรษฐกิจการเงินไทยโดยรวม โดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ

ผู้ที่สนใจสามารถยื่นคำขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank มายัง ธปท. ได้ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2567 ถึง 19 กันยายน 2567 โดยสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการยื่นคำขออนุญาตได้ที่เว็บไซต์ ธปท. และ ธปท. จะจัดประชุมชี้แจงแก่ผู้ที่สนใจยื่นคำขออนุญาตในวันที่ 19 มีนาคม 2567 เพื่อชี้แจงรายละเอียดของประกาศกระทรวงการคลัง ตลอดจนหลักเกณฑ์การกำกับดูแล Virtual Bank ให้ผู้ที่สนใจยื่นคำขอได้รับทราบอย่างชัดเจน ครบถ้วน และเท่าเทียมกัน

โดยผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานประชุมชี้แจงดังกล่าวสามารถศึกษารายละเอียดและลงทะเบียนเข้าร่วมงานล่วงหน้าได้ที่เว็บไซต์ ธปท. ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 13 มีนาคม 2567 ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถประกาศรายชื่อผู้ที่สมควรได้รับอนุญาตให้จัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา ได้ภายในครึ่งปีแรกของปี 2568 โดยผู้ขออนุญาตที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว จะต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ อาทิ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและเครื่องมือบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินธุรกิจได้ภายใน 1 ปี

กระทรางการคลังออกประกาศเกณฑ์ ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา เพื่อเพิ่มประเภทและจำนวนผู้ให้บริการทางการเงินซึ่งจะเป็นการเพิ่มระดับการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินและส่งผลดีต่อประชาชน

ประกาศฯ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตการประกอบธุรกิจ ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา ซึ่งเป็นการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์โดยไม่มีสาขาที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูลมาพัฒนาการให้บริการทางการเงิน โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนให้ประชาชนกลุ่มที่ไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเพียงพอและเหมาะสม (Underserved) และประชาชนกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (Unserved) เข้าถึงบริการทางการเงินในอัตราที่เหมาะสมและตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนกลุ่มดังกล่าว 

สาระสำคัญของประกาศฯ เป็นการกำหนดให้ผู้ขออนุญาตต้องมีคุณสมบัติที่แสดงให้เห็นถึงประสบการณ์และทรัพยากรที่เพียงพอในการช่วยสนับสนุนธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ความเชี่ยวชาญในการใช้งานเทคโนโลยีและการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล รวมทั้งมีธรรมาภิบาลที่ดี เพื่อให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความน่าเชื่อถือ และผู้ขออนุญาตสามารถยื่นคำขออนุญาตผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่ประกาศฯ มีผลบังคับใช้ พร้อมกับหลักฐานและข้อมูลประกอบการพิจารณาตามที่ประกาศฯ กำหนด โดย ธปท. และกระทรวงการคลังจะร่วมกันพิจารณาคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารไร้สาขา ภายใน 9 เดือนนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาการยื่นคำขอ และเมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว ผู้ขออนุญาตต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เช่น ความมั่นคง การบริหารความเสี่ยง เป็นต้น และเริ่มดำเนินธุรกิจภายใน 1 ปี

ทั้งนี้ ประกาศฯ ได้เปิดโอกาสให้แก่ผู้ขออนุญาตที่มีศักยภาพและผ่านคุณสมบัติมีโอกาสได้ประกอบธุรกิจ โดยไม่ได้กำหนดจำนวนใบอนุญาตไว้แต่อย่างใด ซึ่ง ธปท. จะพิจารณาใบอนุญาต ธนาคารไร้สาขา ในจำนวนที่เหมาะสมกับระบบสถาบันการเงินในประเทศไทย เพื่อให้อยู่ในระดับที่จะกระตุ้นการแข่งขันเพื่อประโยชน์ต่อผู้ฝากเงิน ผู้ใช้บริการ และระบบเศรษฐกิจการเงินไทยโดยรวม และไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ

นายพรชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา สอดคล้องกับนโยบายและวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการส่งเสริม Digital Economy และพัฒนา Infrastructure ในระบบการเงินเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Financial Center ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนในอัตราที่เหมาะสม กระทรวงการคลังคาดหวังว่า ธนาคารไร้สาขา จะเพิ่มทางเลือกให้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการทางการเงินและเร่งการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งในที่สุดแล้วจะเป็นการยกระดับประสิทธิภาพของระบบการเงินและช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ”

เปิดรับไม่จำกัดจำนวน ปั้นการเงินยุคดิจิทัล สู่ฮับการเงินอาเซียน

ด้าน ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงการจัดตั้ง “ธนาคารไร้สาขา”  ว่า

1. กระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์ฯการขอและการออกใบอนุญาต ธนาคารไร้สาขา ซึ่งเป็นธนาคารไร้สาขา ผสานความเชี่ยวชาญ 3 ด้าน ได้แก่ ธนาคาร-เทคโนโลยีดิจิทัล-ข้อมูลวิเคราะห์พฤติกรรม เข้าด้วยกัน เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน เร่งเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและก้าวสู่ฮับการเงินอาเซียน

2. “ธนาคารไร้สาขา” มุ่งเน้นบริการทางการเงินแก่ 1. ผู้ไม่มีรายได้ประจำ และ SMEs 2. กลุ่มที่ไม่ได้รับบริการการเงินอย่างเพียงพอ (Underserved) และ 3. กลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (Unserved) 4. กลุ่มเข้าไม่ถึงสินเชื่อและกลุ่มเป็นหนี้นอกระบบ

3. ไม่จำกัดจำนวนใบอนุญาต (เดิมจำกัด 3 ราย) เนื่องจากคลังต้องการเปิดกว้างแก่ผู้มีศักยภาพและผ่านคุณสมบัติ โดยให้ ธปท. พิจารณาใบอนุญาตในจำนวนที่จะกระตุ้นการแข่งขัน และไม่เสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน

4. “ธนาคารไร้สาขา” กำกับโดย ธปท. เสมือนธนาคารพาณิชย์อื่น โดยอยู่ภายใต้การคุ้มครองของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ธนาคารไร้สาขาจะไม่ใช้ระบบเงินฝาก ระบบสินเชื่อ Internet Banking ร่วมกับสถาบันการเงินอื่นทั้งในและต่างประเทศ

5. คลังและ ธปท. จะร่วมกันพิจารณาคำขออนุญาตภายใน 9 เดือน นับแต่วันสิ้นสุดการยื่นคำขอ ต้องจัดตั้งบริษัทมหาชนจำกัดและเปิดบริการใน 1 ปี

6. ต้องตั้งสำนักงานใหญ่ในไทย และมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท ในระยะแรก และไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท ในระยะปกติ สามารถเป็นบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) เพื่อผสานความเชี่ยวชาญเฉพาะได้

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

”พิชัย“ ต้อนรับ ทัพนักธุรกิจรายใหญ่สหรัฐฯ

"พิชัย" ต้อนรับ ทัพนักธุรกิจรายใหญ่สหรัฐฯ USABC ชวนลงทุน-ตั้งฐานการผลิตอุตสาหกรรมใหม่ในไทย

นายแพทย์บุญ ได้กระทำในนามส่วนตัวไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับ THG

ก.ล.ต. ชี้ นายแพทย์บุญ ได้กระทำในนามส่วนตัวไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับ THG

บจ. SET งวด 9 เดือน กำไรอ่อนตัวลงจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน

ผลประกอบการ บจ. SET งวด 9 เดือน ได้รับแรงสนับสนุนจากธุรกิจท่องเที่ยว แต่กำไรอ่อนตัวลงจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน จากราคาน้ำมันที่ลดลง

หนี้ครัวเรือน เสียเพิ่มเป็น 1.16 ล้านล้านบาท

หนี้ครัวเรือน เสียเพิ่มเป็น 1.16 ล้านล้านบาท สถาบันการเงินให้กู้เพิ่ม ทำให้ยอดหนี้ครัวเรือนไตรมาสสามลดลง