นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปรับลดลง ยังมีประชาชนที่เดือดร้อนจากรายได้ที่ฟื้นตัวไม่เต็มที่ รายได้แรงงานในภาคผลิตและท่องเที่ยว ยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด
ขณะที่ราคาสินค้ายังสูง แม้อัตราเงินเฟ้อปรับลดลง ภาคการผลิตเห็นผลกระทบจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น สินค้าจีนเข้ามาตีตลาดในไทย สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ด้านส่งออก
“ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปรับลดลง 10 ปี ก่อนโควิด เศรษฐกิจไทยโตได้ 3.0-3.5% แต่หลังโควิด ปี 66-71 เศรษฐกิจโตได้ต่ำกว่า 3%” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า การปรับนโยบายดอกเบี้ย ต้องชั่งน น้ำหนักหลายมิติ และดูผลข้างเคียง การปรับดอกเบี้ยส่งผลวงกว้าง มีทั้งคนได้และคนเสีย อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในอีก 12 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 2.1% แต่ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน (เฉลี่ยธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 6 แห่ง) อยู่ที่ 1.65% ทำให้ดอกเบี้ยเงินฝากแท้จริงติดลบ 0.45%
นอกจากนี้ ธปท. มองว่านอกจากดอกเบี้ย ยังมีเครื่องมืออื่นที่ตรงจุดกว่า ผลข้างเคียงน้อยกว่า โดยธปท. ให้ความสำคัญกับการเร่งรัด สถาบันการเงินให้ช่วยเหลือลูกหนี้ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ช่วยลดภาระรายเดือนของลูกหนี้
ด้านวัฎจักรสินเชื่ออยู่ในช่วงขาลง ตามศักยภาพเศรษฐกิจที่ลดลงและสินเชื่อที่ขยายตัวมาระยะหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่มาจากเหตุผล เกณฑ์ RL ปัจจุบัน ทำให้ สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น และ ธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อยสินเชื่อเพราะมาฝากเงินกับ ธปท. ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นไม่เป็นความจริง ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า ต้นทุนการปล่อยสินเชื่อ SMEs อยู่ในระดับสูงจากความเสี่ยงด้านเครดิต โดยเฉพาะ SMEs รายย่อย