นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาประจำปี 2567 ของ ธปท. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรื่อง “การเงินกับความกินดีอยู่ดีของคนอีสาน” ว่า ความกินดีอยู่ดีของคน มีแนวทางการเงินที่สำคัญ 3 ด้าน ที่ดำเนินการไปพร้อมกัน ประกอบด้วย
1 รายได้ต้องเพียงพอกับรายจ่ายในระยะยาว แต่ในปัจจุบัน พบว่า ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยราว 3% สูงไม่พอ โตแบบไม่ทั่วถึง 40% ของการบริโภคที่โตในปี 66 มาจากการบริโภคเพียง 10% ของกลุ่มรายได้สูงครัวเรือนอีสาน
นอกจากนี้ รายได้ครัวเรือนอีสานน้อยกว่ารายจ่าย 5,396 บาท สูงกว่าทุกภาค ครัวเรือนอีสานพึ่งพาเงินช่วยเหลือมากสุด 5,024 บาท แรงงานกว่า 50% อยู่ในภาคเกษตร และพึ่งรายได้เพียง 1 รอบต่อปี
2 หนี้สินต้องน้อยกว่าทรัพย์สิน หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ไตรมาส 1/67 อยู่ที่ 90.8% โดย 1 ใน 3 เป็นหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ เมื่อดูภาระหนี้สินของเกษตรกรไทย พบว่า หนี้ก้อนใหญ่ เกือบ 5 แสนบาท/ครัวเรือน มากกว่าครัวเรือนกลุ่มอื่น หนี้โตเร็ว โต 41% ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา หนี้จากหลายแหล่ง โดยเฉลี่ย 3.8 แหล่ง (ธ.ก.ส. กองทุนหมู่บ้าน ลิสซิ่ง และสหกรณ์การเกษตร) กว่า 50% ของเกษตรกร ชำระได้เพียงดอกเบี้ย
นอกจากนี้ เกษตรกรอีสาน มีสินทรัพย์มากกว่าครัวเรือนในภูมิภาคอื่น หนี้ที่โตเร็วกว่าทุกภาค โต 65% ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา
3 แนวทางการเงิน สู่ความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน ต้องดูแลรายจ่าย ดูแลเสถียรภาพราคา ไม่ให้เงินเฟ้อและค่าครองชีพสูงเกินไป ดูแลให้รายได้โตอย่างยั่งยืน การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินและสร้างโอกาส แก้ปัญหาหนี้สิน มาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม
“ความกินดีอยู่ดีของคนอีสาน จึงต้องให้ความสำคัญกับทุกด้าน ไม่ใช่แค่การแก้หนี้” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว