เศรษฐกิจไทย คนป่วยแห่งเอเชีย

Date:

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร โพสต์เฟซบุ๊ก “Pipat Luengnaruemitchai” ระบุว่า 

ไทยเป็นคนป่วยแห่งเอเชียตั้งแต่เมื่อไร?

เราเห็นตัวเลข GDP ไตรมาสสองปี 2567 ออกมาโต 2.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งก็ค่อนข้างใกล้เคียงกับที่หลายๆ ฝ่ายคาดการณ์กันไว้ ต้องบอกเลยว่าเป็นไตรมาสที่เศรษฐกิจไทยโตได้มากที่สุดในรอบปี !

แต่อาจจะไม่ได้เรื่องที่น่ายินดีนัก เพราะถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆในอาเซียน (ไม่รวมลาวและพม่า) เราโตได้ช้าที่สุดในภูมิภาคแล้ว ไล่มาตั้งแต่ อินโดนิเซีย 5.1% ฟิลิปปินส์ 6.3% เวียดนาม 7.2% แม้กระทั่งมาเลเซียและสิงคโปร์ ที่มีระดับรายได้ต่อหัวสูงกว่าเรา เขายังโตได้เร็วกว่าเราเลยที่ 5.9% และ 2.9%  และอย่างที่เราทราบกัน ปัญหาของเราคงไม่ใช่แค่ปัญหาด้านอุปสงค์ที่ต้องการการกระตุ้น แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องการการแก้ไขอย่างจริงจัง

แต่ถ้ามาดูตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสสอง ผมว่ามีข้อสังเกตน่าสนใจสามข้อ

หนึ่ง การท่องเที่ยวและภาคบริการ ยังคงเป็นพระเอกหลักที่ผลักดันเศรษฐกิจไปข้างหน้า แต่แรงส่งมีโอกาสจะแผ่วลงไปเรื่อย ๆ เมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้าสู่ระดับ “ปกติ”

สอง ภาคการผลิต เริ่มมีสัญญาณผ่านจุดต่ำสุด เมื่อการขยายตัวของภาคการผลิตอุตสาหกรรม กลับมาขยายตัวได้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ไตรมาสสี่ ปี 2565 เพราะแม้อุตสาหกรรมใหญ่ของเราอย่างรถยนต์ และอิเลคโทรนิคส์ยังคงหดตัวต่อเนื่อง แต่การผลิตอุตสาหกรรมเริ่มกลับมาขยายตัวได้ เมื่อสินค้าคงคลังเริ่มปรับลดลง

สาม ภาคเศรษฐกิจที่เป็นตัวดึงของเศรษฐกิจที่เห็นได้ชัดในไตรมาสนี้ คือการบริโภคสินค้าคงทน อย่างรถยนต์ และการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน (รวมไปถึงภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างด้วย) ซึ่งพอจะอนุมานได้ว่า เป็นผลกระทบสำคัญจากการที่ภาคธนาคารเริ่มชะลอการปล่อยกู้ จากปัญหาคุณภาพสินเชื่อ จนทำให้ยอดขายรถยนต์และอสังหาริมทรัพย์ลดลงอย่างรวดเร็ว และเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงแล้ว

แต่ที่น่าห่วงคือ ทำไมการลงทุนภาครัฐก็หดตัวไปกับเขาด้วย ทั้ง ๆ ที่ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่าย ก็ผ่านสภาแล้ว และการเบิกจ่ายก็เริ่มกลับมาเป็นปกติแล้ว อาจจะพออธิบายได้ว่า พรบ งบประมาณเพิ่งมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน เลยอาจจะทำกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างไม่ทันในไตรมาสนี้ และหวังว่ารัฐคงจะต้องเร่งโครงการลงทุนส่วนนี้คงจะไม่เป็นตัวถ่วงอีกต่อไป

มองไปข้างหน้าจริง ๆ ตัวเลข GDP ในช่วงครึ่งหลัง อาจจะค่อยๆดีขึ้นจากฐานที่ต่ำจากปีก่อน 

แต่ก็น่าห่วงว่าความเสี่ยงที่เศรษฐกิจอาจจะติดหล่ม ถ้าเราไม่แก้ปัญหากันอย่างจริงจัง ทั้งระยะสั้นในการกระตุ้นอุปสงค์ระยะสั้น ระยะกลางในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และระยะยาวในการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาโครงสร้าง และยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทย

แม้ว่าภาพศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าจะดูไม่ได้ดีนัก แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีความหวังเสียทีเดียว ถ้าเราย้อนไปดูประเทศอื่น ๆ อย่างฟิลิปปินส์ที่เคยได้ชื่อว่า “คนป่วยของเอเชีย” มาก่อนไทย โดยในช่วงทศวรรษ 1980 เติบโตได้เพียงเฉลี่ย 2% คล้ายกับไทยตอนนี้แต่ในช่วงที่ผ่านมากลับมาเติบโตได้ 4-5% อีกครั้ง 

ดังนั้นถ้าเราตั้งใจแก้ไขปัญหาโครงสร้างอย่างจริงจังในระยะยาวก็ยังมีความหวังที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ 

แต่ถ้าไม่ เราคงจองตำแหน่ง “คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย” ไปอีกนาน

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

นายกฯ ยันไทยพร้อมรับมือ  สหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้าไทยสูง​ 36%

นายกฯ ยันไทยเตรียมพร้อมรับมือ มีแผนระยะสั้น-ยาว หลังสหรัฐฯเคาะภาษีนำเข้าไทยสูง​ 36% ​ ตั้งทีมเจรจา​ เชื่อยังต่อรองได้

ค่าเงินบาท “อ่อนค่าลงหนัก” หลังทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้าไทย

ค่าเงินบาท เปิดเช้านี้ ที่ระดับ  34.38 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก” หลังทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้าไทย

นายกฯ ยัน ไม่รีบดันร่าง “พ.ร.บ. กาสิโน” เข้าสภาฯ

นายกฯ ยัน ไม่รีบดันร่าง “พ.ร.บ. กาสิโน” เข้าสภาฯ ลั่น พยายามบริหารงานทุกทางไม่ให้เกิดความขัดแย้ง บอกยังมีเวลาทำความเข้าใจ

ส่งออกไทยเดือดร้อนหนักแน่แล้ว

ส่งออกไทยเดือดร้อนหนักแน่แล้ว หลังทรัมป์ตั้งกำแพงภาษีไทย ภาษีฐาน 10% บวกภาษีตอบโต้อีก 36% รวมเป็น 46%