เศรษฐกิจไทย ปีหน้าลุ้นเหนื่อยโตต่ำ

Date:

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มทรงตัวในปีนี้ และจะดีขึ้นเล็กน้อยในปี 2568 SCB EIC คงประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2567 ที่ 2.7% โดยมีมุมมองเศรษฐกิจโลกช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะชะลอตัวลงจากครึ่งปีแรก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขณะที่เศรษฐกิจยูโรโซน อินเดีย และอาเซียน 5 ปรับดีขึ้นเล็กน้อย เศรษฐกิจโลกในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าคาดการณ์เดิมเล็กน้อยเป็น 2.8% จากเศรษฐกิจยูโรโซน ญี่ปุ่น และจีนที่จะขยายตัวดีขึ้นบ้าง ส่วนหนึ่งจากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงด้านลบเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความไม่แน่นอนด้านนโยบายหลังการเลือกตั้งใหญ่ของหลายประเทศที่เกิดขึ้นภายในปีนี้

นโยบายการเงินโลกจะลดความตึงตัวลงในระยะข้างหน้า SCB EIC ประเมินว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะเห็นธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เริ่มลดดอกเบี้ยและลดมากกว่าที่เคยมองไว้ โดยปรับลดในทุกรอบประชุมที่เหลือ 3 ครั้งของปีนี้ รวมเป็น 75 BPS เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่ออีก 2 ครั้ง 50 BPS ในเดือน ก.ย. และ ธ.ค. หลังจากเริ่มลดครั้งแรกไปในไตรมาส 2 ด้านธนาคารกลางจีน (PBOC) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ออีก 10 BPS ในไตรมาส 4 ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะยังคงดอกเบี้ยไว้ก่อนที่ 0.25% ตลอดปีนี้หลังจากปรับขึ้นมาแล้ว 2 ครั้ง ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างความมั่นใจในเสถียรภาพตลาดการเงินจากการปรับทิศทางนโยบายการเงินในโลก โดย BOJ จะกลับมาปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อในช่วงไตรมาส 1 และสิ้นปีหน้า

SCB EIC คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ที่ 2.5% และปรับลดมุมมองเศรษฐกิจปี 2568 เหลือ 2.6% หลังภาพรวมตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ออกมาใกล้เคียงที่ประเมินไว้ แต่แรงส่งเศรษฐกิจรายองค์ประกอบต่างไปบ้าง โดยเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังได้แรงส่งหลักจาก 1) ภาคท่องเที่ยว ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย ซึ่งเป็นผลจากการทำตลาดของภาครัฐและการเพิ่มความถี่เที่ยวบินใน Winter schedule และ 2) แรงสนับสนุนจากการบริโภคเอกชนตามมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวชั่วคราว อย่างไรก็ดี มุมมองต่อการลงทุนภาคเอกชนปรับลดลงมาก โดยมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 2 โดยเฉพาะการลงทุนก่อสร้างที่อยู่อาศัยและการลงทุนยานพาหนะ สอดคล้องกับอุปสงค์ตลาดที่อยู่อาศัยและรถยนต์ที่หดตัว ท่ามกลางปัญหาหนี้ค้างชำระและอัตราการปฏิเสธสินเชื่อที่ปรับสูงขึ้น

อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้าภาคการผลิตและการส่งออกจะยังฟื้นตัวได้ช้า ประกอบกับเริ่มเห็นสัญญาณความเชื่อมั่นการบริโภค (โดยเฉพาะสินค้าคงทน) และการลงทุนในระยะสั้นที่แผ่วลงต่อเนื่อง เศรษฐกิจไทยจึงยังมีทิศทางเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความไม่แน่นอนทางการเมืองและนโยบายรัฐบาล SCB EIC จึงปรับลดมุมมองเศรษฐกิจปี 2568 เหลือ 2.6% (เดิม 2.9%) จากการบริโภคเอกชนที่จะเติบโตชะลอลงท่ามกลางกำลังซื้อเปราะบางและหนี้สูง รวมถึงทิศทางการลงทุนภาคเอกชนที่แผ่วลง

สำหรับเงินเฟ้อ ประเมินเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัวต่ำลงอยู่ที่ 0.6% (เดิม 0.8%) ในปีนี้ สะท้อนความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐชะลอการทยอยปรับขึ้นราคาพลังงานในประเทศตลอดปี โดยเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยกลับเข้ากรอบได้ในไตรมาส 4 ส่วนหนึ่งเพราะในช่วงเดียวกันของปีก่อนภาครัฐได้ออกมาตรการลดค่าครองชีพด้านราคาพลังงานให้อยู่ในระดับต่ำหลายด้าน

SCB EIC คงมุมมอง กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้งในช่วงปลายปีนี้เหลือ 2.25% จากความจำเป็นในการปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ความเปราะบางเริ่มส่งผลมายังอุปสงค์ในประเทศ รวมถึงการลงทุนที่ชะลอลง นอกจากนี้ ภาคครัวเรือนอาจเผชิญภาวะการเงินตึงตัวแรงกว่าภาคส่วนอื่น เพราะได้รับผลกระทบจากมาตรฐานการให้สินเชื่อครัวเรือนของสถาบันการเงินที่ปรับเข้มงวดขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ภาคครัวเรือนสามารถก่อหนี้ได้น้อยลงกว่าในอดีตมาก การเริ่มลดดอกเบี้ยในภาวะเช่นนี้จึงไม่ได้มีผลกระตุ้นการก่อหนี้มากจนน่ากังวล และไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการลดหนี้ในระบบเศรษฐกิจ (Debt deleveraging) สำหรับปี 2568 ภาวะการเงินโลกจะมีแนวโน้มผ่อนคลายมากขึ้น ตามทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกอบกับเศรษฐกิจไทยจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงขึ้น ทั้งจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และนโยบายเศรษฐกิจของไทยเอง SCB EIC จึงยังคงมุมมองว่า กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้าเหลือ 2%

เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็ว จากความกังวลทางการเมืองที่ลดลงหลังแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีใหม่ได้เร็ว ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า และราคาทองคำสูงขึ้น ในระยะต่อไปเงินบาทอาจอ่อนค่าได้ในช่วงสั้น ก่อนจะกลับสู่เทรนด์
แข็งค่าตาม Easing cycle ของนโยบายการเงินสหรัฐฯ โดยมองกรอบเงินบาท ณ สิ้นปีนี้อยู่ในช่วง 34.00 – 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

นายกฯ ยันไทยพร้อมรับมือ  สหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้าไทยสูง​ 36%

นายกฯ ยันไทยเตรียมพร้อมรับมือ มีแผนระยะสั้น-ยาว หลังสหรัฐฯเคาะภาษีนำเข้าไทยสูง​ 36% ​ ตั้งทีมเจรจา​ เชื่อยังต่อรองได้

ค่าเงินบาท “อ่อนค่าลงหนัก” หลังทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้าไทย

ค่าเงินบาท เปิดเช้านี้ ที่ระดับ  34.38 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก” หลังทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้าไทย

นายกฯ ยัน ไม่รีบดันร่าง “พ.ร.บ. กาสิโน” เข้าสภาฯ

นายกฯ ยัน ไม่รีบดันร่าง “พ.ร.บ. กาสิโน” เข้าสภาฯ ลั่น พยายามบริหารงานทุกทางไม่ให้เกิดความขัดแย้ง บอกยังมีเวลาทำความเข้าใจ

ส่งออกไทยเดือดร้อนหนักแน่แล้ว

ส่งออกไทยเดือดร้อนหนักแน่แล้ว หลังทรัมป์ตั้งกำแพงภาษีไทย ภาษีฐาน 10% บวกภาษีตอบโต้อีก 36% รวมเป็น 46%