สรรพากร คาดเก็บภาษีเข้าเป้า 2.8 ล้านล้าน

Date:

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ในช่วง 11 เดือนของปีงบประมาณ 2567 นี้ (ตุลาคม 2566 – สิงหาคม 2567) กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บภาษีได้กว่า 1.96 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณฯ 8,482 ล้านบาทหรือ 0.4% และสูงกว่าช่วงเดียวกัน ของปีก่อน 47,911 ล้านบาทหรือกว่า 2.5% ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่เริ่มไปในทิศทางที่ดีขึ้น ประกอบกับมาตรการด้านภาษีของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา อาทิ มาตรการ “Easy E-Receipt” ที่ช่วยเหลือประชาชนและร้านค้าที่เข้าร่วมออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice & e-Receipt) ซึ่งเป็นมาตรการภาษีสำหรับประชาชนที่ใช้บริการหรือซื้อสินค้าจากร้านค้าดังกล่าวสามารถนำมาลดหย่อนภาษี เงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2567 และมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ ที่เป็นแรงส่งให้การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภค ภายในประเทศยังคงขยายตัวได้ดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนกว่า 7.7%

นางสาวกุลยา กล่าวว่า การที่กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมายที่กระทรวงการคลังได้มอบหมายไว้ เป็นส่วนสำคัญในการรักษาเสถียรภาพทางการคลังของประเทศเอาไว้ได้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ เศรษฐกิจ ขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ ณ ขณะจัดทำประมาณการปี 2567 ซึ่งคาดว่า GDP จะขยายตัวกว่า 3.2% แต่ล่าสุดสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ปรับลดแนวโน้ม GDP ปี 2567 ว่าจะขยายตัวเพียง 2.5% จากตัวเลข GDP ครึ่งปีที่ขยายตัวต่ำที่เพียง 1.9% ถือเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้น จากความร่วมมือร่วมใจของเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากร ที่พร้อมใจกันขับเคลื่อนกรมสรรพากรให้เป็นองค์กรที่นำเทคโนโลยีมายกระดับการบริการ และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้จริง ตัวอย่างเช่น การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อระบุตัวผู้เสียภาษี ที่มีเงินได้ถึงเกณฑ์ต้องยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษี

นอกจากนี้ กรมสรรพากรยังส่งจดหมายแจ้งเตือนผู้เสียภาษีให้เข้าสู่ระบบภาษีหรือให้ชำระภาษีตามกำหนดเวลา การอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เสียภาษีในการตรวจสอบและ Pre-Fill ข้อมูลเงินได้

สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผ่านระบบ My Tax Account สำหรับผู้เสียภาษีที่ยืนยันตัวตนด้วย Digital ID ซึ่งสามารถช่วยให้ผู้เสียภาษีสามารถตรวจสอบข้อมูลทางภาษีได้สะดวกขึ้น ล้วนมีส่วนสนับสนุนให้การจัดเก็บภาษี ของกรมสรรพากรในช่วงที่ผ่านมาเป็นไปตามเป้าหมายทั้งสิ้น

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ปัจจุบันกรมสรรพากรได้มีกลยุทธ์ในการจัดเก็บภาษี “SMILE RD” ซึ่งเริ่มใช้ในปีงบประมาณ 2567 ประกอบด้วย

S : Simplification การทำภาษีให้ง่ายและไร้รอยต่อ

M : Modernization มีความทันสมัย

I : Inclusivity and Innovation มีความทั่วถึง และมีนวัตกรรมด้วย

L : Legality and Compliance ถูกต้องตามระเบียบและข้อกฎหมาย

E : Efficiency มีประสิทธิภาพ

R : Responsiveness ตอบสนองความต้องการทั้งเจ้าหน้าที่และผู้เสียภาษี

D : Digitization ปรับองค์กรมุ่งสู่ Digital First

ขณะเดียวกัย กรมสรรพากรยังคงเดินหน้าสานต่อนโยบาย “oneRD : ONE TEAM ONE SEAMLESS TAX ECOSYSTEM” ตามที่ปลัดกระทรวงการคลังได้ริเริ่มไว้ ทำภาษีให้ง่ายและไร้รอยต่อมากยิ่งขึ้น เตรียมความพร้อมสู่ระบบภาษีอากรที่เป็นดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ในช่วงต้นปี พ.ศ.2568 กรมสรรพากร จะยกระดับบริการทางภาษีและแสดงข้อมูลทางภาษีให้ครบถ้วน โดยเปิดให้บริการ One Portal : My Tax เริ่มให้บริการกลุ่มผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และต่อยอดการกำหนดให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย ภ.ง.ด.3 ทางอิเล็กทรอนิกส์ เท่านั้น ซึ่งได้เริ่มใช้ในปีที่ผ่านมากับแบบ ภ.ง.ด.1 ภ.ง.ด.1 ก และ ภ.ง.ด.1 ก พิเศษ 

นอกจากนี้ ได้วางแผนการพัฒนา น้องอารีย์ Chatbot ด้วยการนำ ChatGPT เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการตอบคำถาม ในมิติของการทำงานของเจ้าหน้าที่ กรมสรรพากร ยังมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และการใช้เทคโนโลยี AI กับการประมวลผลข้อมูลภายในของกรมสรรพากร ร่วมกับข้อมูลที่ได้รับจากการเชื่อมโยงหรือแลกเปลี่ยนจากภายนอก เช่น ข้อมูลบัญชีทางการเงินที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะ ข้อมูลบัญชีพิเศษจากอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม ข้อมูลที่ได้รับจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศแบบอัตโนมัติเป็นต้น ในการประเมินและวิเคราะห์หาพฤติกรรมของผู้เสียภาษี ซึ่งจะช่วยเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากร ในการจัดกลุ่มผู้เสียภาษีตามความเสี่ยงและสามารถเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมในมิติต่าง ๆ เช่น การตรวจสอบก่อนการคืนเงินภาษี หากเป็นผู้เสียภาษีกลุ่มเสี่ยง ก็จะต้องถูกตรวจสอบอย่างละเอียดก่อนคืนเงินภาษี

สำหรับการสร้างความเป็นธรรมและความทั่วถึงในการจัดเก็บภาษีอากร กรมสรรพากรยังคงให้ความสำคัญในการเสนอแนะและจัดทำนโยบายทางภาษีที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน เช่น การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขาย Low-Value Goods รวมทั้งปรับปรุงหลักเกณฑ์หรือกฎหมายการจัดเก็บภาษีให้มีความทันสมัย โดยกรมสรรพากรอยู่ระหว่างเร่งเสนอกฎหมายและเตรียมความพร้อมรองรับการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่ม ตามหลักการ Pillar 2 การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (Global Minimum Tax) ที่กำหนดให้กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติขนาดใหญ่เสียภาษีเงินได้ในอัตราภาษี ที่แท้จริงไม่น้อยกว่า 15%

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

SAMA เปิดตัวในไทย รวมเอเจนซีการตลาดชั้นนำจากทั่วเอเชีย

SAMA เครือข่ายพันธมิตรเชิงกลยุทธ์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเอเจนซีด้านการตลาดและนวัตกรรมชั้นนำทั่วเอเชีย เปิดตัว SAMA Thailand

บาฟส์ จัด “โครงการเกษตรอินทรีย์ฯ” 

บาฟส์ จัด “โครงการเกษตรอินทรีย์ฯ” เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ

ลุ้น ดัชนีหุ้นไทยเด้งหลังสงกรานต์

บล.ทิสโก้ ลุ้น ดัชนีหุ้นไทยเด้งหลังสงกรานต์  ชี้ต้นเดือนเม.ย. จังหวะเหมาะสะสมหุ้น 

TEAMG นำทีมคว้าบิ๊กโปรเจกต์ ทอท.มูลค่า 200 ล้าน

TEAMG นำทีมคว้าบิ๊กโปรเจกต์ ทอท.มูลค่า 200 ล้าน สำรวจและออกแบบท่าอากาศยานภูเก็ตระยะที่ 2