นางแพตริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กรมบัญชีกลางได้ติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนกลางมีคณะทำงานเฉพาะกิจในการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และในส่วนภูมิภาค มีสำนักงานคลังจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด ทำหน้าที่เร่งรัดและสนับสนุนการดำเนินงาน พร้อมทั้งให้คำแนะนำหน่วยรับงบประมาณทุกแห่ง ให้สามารถดำเนินการเบิกจ่ายได้ตามแผนการใช้จ่ายเงิน เพื่อให้เม็ดเงินงบประมาณมีส่วนในการผลักดันการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้กำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2567 โดยภาพรวมเบิกจ่ายไม่น้อยกว่า ร้อยละ 93 รายจ่ายประจำเบิกจ่ายไม่น้อยกว่า ร้อยละ 98 รายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 และการใช้จ่ายงบประมาณ (การก่อหนี้) รายจ่ายภาพรวม รายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุน ร้อยละ 100
“ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (ต.ค. 66 – ก.ย. 67) กรมบัญชีกลางสามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของหน่วยรับงบประมาณต่าง ๆ เกินเป้าหมายที่กำหนด โดยภาพรวมเบิกจ่ายแล้ว 3,273,967.22 ล้านบาท คิดเป็น 94.08% ของวงเงินงบประมาณ 3,480,000 ล้านบาท จำแนกเป็น รายจ่ายประจำเบิกจ่ายแล้ว 2,829,329.35 ล้านบาท คิดเป็น 101.14% ของวงเงินงบประมาณ 2,797,564.46 ล้านบาท รายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายแล้ว 444,637.87 ล้านบาท คิดเป็น 65.15% ของวงเงินงบประมาณ 682,435.54 ล้านบาท สำหรับเงินงบประมาณที่กันไว้เบิกเหลื่อมปีเบิกจ่ายแล้ว 146,429.74 ล้านบาท คิดเป็น 92.37% ของวงเงินงบประมาณ 158,517.77 ล้านบาท” อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าว
อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่ผลการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนของปีงบประมาณ 67 ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจาก พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 ทำให้หลายโครงการไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทันภายในปีงบประมาณ 67 อย่างไรก็ดี เม็ดเงินที่เหลือจะทยอยเบิกจ่ายลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจได้ในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปีงบประมาณ 68
สำหรับมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 คณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายเงินภาครัฐได้กำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 รายจ่ายประจำ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 98 และรายจ่ายภาพรวม ไม่น้อยกว่าร้อยละ 94 รวมทั้งกำหนดแนวทางให้หน่วยรับงบประมาณดำเนินการ ดังนี้
1. เร่งดำเนินการส่งเงินจัดสรรไปยังสำนักงานในส่วนภูมิภาคภายใน 5 วันนับแต่วันที่ได้รับอนุมัติเงินจัดสรร
2. เร่งรัดการก่อหนี้รายจ่ายลงทุน โดยรายการปีเดียว ให้ก่อหนี้ผูกพันภายในไตรมาสที่ 1 สำหรับรายการผูกพันข้ามปีงบประมาณ ให้ก่อหนี้ผูกพันภายในไตรมาสที่ 2
3. เร่งรัดการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรม ประชุม สัมมนา ให้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณดังกล่าวได้ภายในไตรมาสที่ 2
นอกจากนี้ ให้กระทรวงต้นสังกัดกำกับติดตามการดำเนินงานของหน่วยรับงบประมาณอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การเบิกจ่ายและการใช้จ่ายเงินเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด และมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว