
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาน้ำท่วม รุนแรงกว่าคาด เดิมผมมองว่าน้ำท่วมจำกัดในพื้นที่ริมแม่น้ำโขง กระทบพื้นที่เพาะปลูก ส่งผลให้รายได้ภาคเกษตรอ่อนแอลง ภาคบริการในพื้นที่มีรายได้ลดลง แต่เนื่องจากไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว ไม่ใช่พื้นที่ภาคอุตสาหกรรม จึงไม่ได้กระทบเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ คือมองว่ากระทบไม่ถึงสองแสนล้านบาท หรือ 0.1%-0.3%ของ GDP
ตอนนี้เริ่มเอาไม่อยู่ กระทบเชียงใหม่หนัก และมีโอกาสเข้ามาภาคกลาง แม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มสูง หากมีพายุมาอีกอาจรับไม่ไหว เสี่ยงท่วมพื้นที่ริมน้ำ
ผลกระทบมีหลายด้าน ทั้งความเชื่อมั่นที่จะลดลง คนระมัดระวังการเดินทาง การจับจ่ายซื้อสินค้า (อาจตุนน้ำ อาหาร ของใช้จำเป็นชั่วคราว) ด้านอุตสาหกรรมอาจไม่กระทบ แต่ด้านการขนส่งอาจมีปัญหา เกิด Supply chain disruption ได้หรือเกิดการขาดสินค้า ส่วนด้านการท่องเที่ยว ตอนนี้ยังประเมินว่าไม่กระทบกรุงเทพ และเมืองท่องเที่ยวสำคัญ เช่น ภูเก็ต พัทยา กระบี่ และสมุย แต่สำหรับเชียงใหม่นั้น น่าโดนผลกระทบบ้างในเดือนตุลาคมและอาจลากไปพฤศจิกายน แต่น่าฟื้นในช่วงปลายปี ซึ่งอาจเผชิญปัญหา PM2.5 ต่อ และต้องติดตามกัน แต่ไม่น่าเกิดการยกเลิกห้องพักของต่างชาติในปลายปี แต่ไม่ใช่ว่าฟื้นได้ดี เพราะทัวร์จีนยังมาน้อย
รอบนี้ไม่เหมือนปี 2554 ที่กระทบหนัก แต่สำหรับคนที่ได้รับผลกระทบก็น่าห่วงกว่าเดิม เพราะทั้งภาระหนี้ที่สูงกว่าเดิม รายได้ที่โตช้าลง และโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อที่เริ่มจำกัดตามคุณภาพที่ด้อยลงของผู้กู้ ทั้งหมดล้วนรุนแรงกว่าเดิม แม้ผลต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวมไม่รุนแรง
มาตรการแจกเงินช่วยผู้ได้รับผลกระทบน่ามีหลายเฟส ดูแลทันที ฟื้นฟูและต่อเนื่อง คงเกิดภาระทางการคลังต่อ ผมเลยยังไม่ประเมินว่าผลการแจกเงินหมื่นและแจกต่ออีกจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทยได้มาก คงต้องทำหลายอย่าง แต่ต้องจัดสรรเงินให้ดี ทำหลายด้าน ทั้งบรรเทา กระตุ้น ลดค่าครองชีพ
เคยให้ความเห็นผ่าน Nikkei ผมห่วงคนจนไม่ได้ซื้อประกันภัยจากน้ำ ก็จะซื้อได้ยังไง เบี้ยจ่ายสูงและคนมักไม่ซื้อกัน น่าหาทางดูแลจุดนี้ต่อไป