กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) รายงานผลประกอบการ 9 เดือนแรกปี 2567 มีกำไรสุทธิจำนวน 23,424 ล้านบาท ลดลง 7.0% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของการตั้งสำรอง ตอกย้ำนโยบายการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบระมัดระวัง ภายใต้บริบทสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่ไม่เอื้ออำนวย
กรุงศรีมุ่งมั่นให้ความช่วยเหลือแก่ทั้งกลุ่มลูกค้าธุรกิจและกลุ่มลูกค้ารายย่อย ผ่านมาตรการช่วยเหลือที่หลากหลาย เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจของลูกค้าสามารถฟื้นตัว รวมทั้งยังคงมีเสถียรภาพด้านการเงิน ภายใต้ความเปราะบางด้านเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมา
สรุปผลประกอบการและฐานะการเงินที่สำคัญสำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567:
• กำไรสุทธิในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2567 จำนวน 23,424 ล้านบาท ลดลง 7.0% หรือจำนวน 1,774 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2566 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ตามการตั้งสำรองที่รอบคอบระมัดระวัง
• เงินให้สินเชื่อรวม ลดลง 4.5% หรือจำนวน 90,268 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคม 2566 สะท้อนการปรับลดลงของความเชื่อมั่นทางธุรกิจและความเชื่อมั่นผู้บริโภค กอปรกับการดำเนินการตามแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมของกรุงศรี
• เงินรับฝาก เพิ่มขึ้น 3.3% หรือจำนวน 60,009 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคม 2566 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของเงินรับฝากประจำ
• ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) เพิ่มขึ้นเป็น 4.33% เทียบกับ 3.70% ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2566
• รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย เพิ่มขึ้น 23.2% หรือ 6,304 ล้านบาท จากช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2566 โดยมีปัจจัยมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจากธุรกิจในอาเซียน
• อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 43.8% จาก 44.2% ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2566
• อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ที่ 3.20% ขณะที่สัดส่วนการตั้งสำรอง
ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 245 เบสิสพอยท์ และอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 124.6%
• อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (ของธนาคาร) ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 18.94% เทียบกับ 18.24% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566
นายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในฐานะผู้ให้บริการทางการเงินที่มีความรับผิดชอบ กรุงศรียังคงให้การสนับสนุนแก่ลูกค้าทั้งภาคธุรกิจและรายย่อยอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจของลูกค้าสามารถฟื้นตัว รวมทั้งยังคงมีเสถียรภาพด้านการเงิน ผ่านมาตรการช่วยเหลือต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับลูกค้าผู้ประกอบการ SME และรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเมื่อเร็วๆ นี้ ในขณะเดียวกัน เราได้ตอกย้ำความมุ่งมั่นสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ผ่านการเปิดตัวสินเชื่อ Krungsri SME Transition Loan ในช่วงต้นไตรมาสที่สามของปีนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ในการเปลี่ยนผ่านสู่เส้นทางการลดการปล่อยคาร์บอนอย่างมีประสิทธิภาพ”
นายเคนอิจิให้ความเห็นเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจว่า “เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่ 4/2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น การเติบโตอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว และการเร่งตัวของการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่ช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม การเติบโตของเศรษฐกิจอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงในเชิงลบ ได้แก่ ผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม การแข็งค่าของเงินบาท และอุปสรรคเชิงโครงสร้าง อาทิ หนี้ครัวเรือนและความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิต จากแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจดังกล่าวข้างต้น กรุงศรียังคงคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2567 ที่ 2.4%”
ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 กรุงศรี ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับห้าในระบบเศรษฐกิจไทยจากมูลค่าสินทรัพย์ สินเชื่อและเงินรับฝาก และเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) มีสินเชื่อรวม 1.93 ล้านล้านบาท เงินรับฝาก 1.90 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 2.72 ล้านล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 318.77 พันล้านบาท หรือเทียบเท่า 18.94% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของคิดเป็น 14.75%