นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 2.50 ต่อปี มาอยู่ที่ร้อยละ 2.25 ต่อปีนั้น ธ.ก.ส. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจตามนโยบายรัฐบาลและพัฒนาภาคการเกษตรสู่ความยั่งยืน ได้พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงสูงสุดร้อยละ 0.25 ต่อปี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบด้วย
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลดลงร้อยละ 0.10 ต่อปี จากร้อยละ 6.975 ต่อปี ลดลงเหลือร้อยละ 6.875 ต่อปี และกรณีลูกค้าเกษตรกรกลุ่มเปราะบางและ SMEs ที่ประสบปัญหาในการผลิตจนทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง รวมถึงลูกหนี้ NPLs ที่อยู่ระหว่างปรับปรุงโครงสร้างหนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR ปรับลดลงร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 6.975 ต่อปี ลดลงเหลือ 6.725 ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลาออกไปอีกเป็นเวลา 5 เดือน ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2567 จนถึง 31 มีนาคม 2568 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าประเภทเงินเกินบัญชี (MOR) ลดลงร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 7.125 ต่อปี ลดลงเหลือร้อยละ 6.875 ต่อปี ขณะเดียวกัน ธ.ก.ส. พร้อมตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากทุกประเภทออกไปให้นานที่สุด เพื่อส่งเสริมวินัยการออมเงินและร่วมสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. พร้อมสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ ในการดูแลปัญหาหนี้สิน พัฒนาคุณภาพชีวิต และรายได้ของ เกษตรกรอย่างยั่งยืน ผ่านมาตรการและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของธนาคาร อาทิ มาตรการพักชำระหนี้ลูกหนี้รายย่อย โครงการหนี้นอกบอก ธ.ก.ส. ควบคู่กับการสนับสนุนเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายและ การประกอบอาชีพ เช่น สินเชื่อเสริมแกร่ง SME เกษตร ระยะที่ 2 สินเชื่อแทนคุณ และสินเชื่อเงินด่วนคนดี สำหรับ สมาชิก อสม. และ อสส. และมาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือและรองรับหนี้นอกระบบ เป็นต้น