คาด กนง. ไม่เร่งปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงต่อเนื่อง

Date:

วิจัยกรุงศรี ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหนือความคาดหมาย พร้อมระบุยังไม่ใช่วัฎจักรดอกเบี้ยขาลง การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 16 ตุลาคม มีมติ 5 ต่อ 2 ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 2.50% เป็น 2.25% โดยประเมินเศรษฐกิจไทยเติบโตที่ 2.7% และ 2.9% ในปี 2567 และปี 2568 ใกล้เคียงกับคาดการณ์เดิมที่ 2.6% และ 3.0% ตามลำดับ ปัจจัยหนุนจากการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ ขณะที่การส่งออกฟื้นตัวช้า ด้านอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะกลับสู่กรอบเป้าหมายปลายปี 2567 คณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าการลดดอกเบี้ยจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ได้บ้าง โดยไม่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ (debt deleveraging) ท่ามกลางสินเชื่อมีแนวโน้มชะลอตัว ขณะที่กรรมการ 2 ท่าน เห็นควรให้คงดอกเบี้ย ไว้ระดับเดิมที่ยังสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมถึงการรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า   

การตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกนง.ครั้งนี้ เหนือความคาดหมายของตลาดและวิจัยกรุงศรี เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อยังคงเป็นไปตามที่ กนง. คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม กนง. ได้ให้ความสำคัญกับเสถียรภาพทางการเงินมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นหนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวดีขึ้นแม้ยังอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของภาวะการเงินที่ตึงตัวต่อการเติบโตของสินเชื่อที่ชะลอตัวลงและคุณภาพสินเชื่อที่เสื่อมลง โดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs และครัวเรือนที่มีหนี้สูงการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% จึงอาจช่วยบรรเทาภาระหนี้ ผ่อนคลายภาวะการเงิน และสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจจริงได้บ้าง

สำหรับแนวโน้มดอกเบี้ยในระยะถัดไป วิจัยกรุงศรีประเมินจากรายงานประชุมที่ระบุว่า “อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังควรอยู่ในระดับที่เป็นกลางและสอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจ รวมทั้งไม่ต่ำเกินไปจนนำไปสู่การสะสมความไม่สมดุลทางการเงินในระยะยาว” จึงคาดว่ากนง.จะยังไม่เร่งปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงต่อเนื่อง โดยน่าจะใช้แนวทางจับตาและรอประเมินสถานการณ์ (wait-and-see approach) ผ่านการติดตามกระบวนการลดหนี้และแนวโน้มเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ หากการลดหนี้ยังคงดำเนินต่อไปและสถานการณ์เศรษฐกิจแย่ลงกว่าที่คาด อาจทำให้คณะกรรมการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมลงสู่ 2% ภายในไตรมาสแรกของปี 2568 ซึ่งใกล้เคียงกับระดับอัตราดอกเบี้ยที่เป็นกลาง

ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมยังอ่อนแอ ด้านรัฐบาลเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ล่าสุดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกันยายนยังคงปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่7 สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 17 เดือน ที่ 55.3 จาก 56.5 เดือนสิงหาคม เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือนกันยายน ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 27 เดือน ที่ 87.1 จาก 87.7 เดือนสิงหาคม 

ความเชื่อมั่นทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่ยังฟื้นตัวช้าส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบของปัจจัยชั่วคราวจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งส่งผลต่อการผลิตทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม และกำลังซื้อของคนพื้นที่ อย่างไรก็ตาม แม้ความเชื่อมั่นในระยะข้างหน้าอาจมีปัจจัยบวกอยู่บ้างจากมาตรการแจกเงินสด 10,000 บาทแก่กลุ่มเปราะบาง ที่ดำเนินการไปเมื่อปลายเดือนกันยายน แต่อาจกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศได้เพียงระยะสั้น ล่าสุดรัฐบาลเผยเตรียมพิจารณาออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม อาทิ มาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในประเทศ การพิจารณาแจกเงินในกลุ่มผู้ลงทะเบียนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเดิม ทั้งนี้ หากมาตรการมีรายละเอียดที่ชัดเจนมากขึ้นและสามารถนำมาดำเนินการได้อย่างเหมาะสม น่าจะช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นและสร้างแรงขับเคลื่อนให้กับเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

หนี้ครัวเรือน เสียเพิ่มเป็น 1.16 ล้านล้านบาท

หนี้ครัวเรือน เสียเพิ่มเป็น 1.16 ล้านล้านบาท สถาบันการเงินให้กู้เพิ่ม ทำให้ยอดหนี้ครัวเรือนไตรมาสสามลดลง

อสังหาฯ ไทยปี 67 สาหัส บ้านใหม่เสี่ยงเหลือค้างสูงสุดรอบ 8 ปี

KKP วิเคราะห์ อสังหาฯ ไทยปี 2567 หดตัวหนัก บ้านใหม่เสี่ยงเหลือค้างสูงสุดในรอบ 8 ปี หวังมาตรการใหม่ช่วยพยุง

กรมบัญชีกลาง แจ้งข้าราชการขอรับเงินเดือน 2 รอบ

กรมบัญชีกลาง แจ้งข้าราชการและลูกจ้างประจำ ที่ประสงค์ขอรับเงินเดือน 2 รอบ ยื่นความประสงค์ภายใน 1 - 15 ธ.ค. 67

EXIM BANK พบปะรัฐมนตรีสาธารณรัฐทาจิกิสถาน

EXIM BANK พบปะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีใหม่ สาธารณรัฐทาจิกิสถาน