กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการครอบงำธนาคารแห่งประเทศไทยโดยกลุ่มการเมือง ว่า
ในวันที่ 4 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ จะมีการประชุมเพื่อคัดเลือกประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสองท่านในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางว่ารัฐบาลได้เสนอชื่อบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับฝ่ายการเมืองให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย
กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมและภาคส่วนต่างๆ ในสังคมมีความกังวลอย่างยิ่งถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศถูกครอบงำโดยฝ่ายการเมืองซึ่งอาจเน้นเพียงผลประโยชน์ระยะสั้น เพื่อแสดงผลงานที่รวดเร็วเพราะมีความเสี่ยงทางการเมืองที่อาจดำรงตำแหน่งได้ไม่ยืนยาวนัก ในขณะที่การเน้นผลระยะสั้นนั้นอาจก่อให้เกิดผลเสียหายรุนแรงต่อเสถียรภาพและการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจในระยะยาว
การรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจเป็นภารกิจหลักของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งตามหลักสากลธนาคารกลางควรมีอิสระในการดำเนินนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและเป็นประโยชน์สูงสุดของประเทศ อันนำไปสู่ความมั่นคงที่ยั่งยืนในระยะยาว
บทบาทของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยครอบคลุมภารกิจสำคัญหลายด้าน ได้แก่ การกำกับดูแลการบริหารงานภายในองค์กร การบริหารจัดการทุนสำรองระหว่างประเทศ และการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการนโยบายที่สำคัญ เช่น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งมีบทบาทในการกำหนดอัตราดอกเบี้ย อันเป็นเครื่องมือสำคัญของการดำเนินนโยบายการเงิน หรือคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการเงินของประเทศ ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและต้องการการกำกับดูแลที่โปร่งใสและปราศจากผลประโยชน์ทางการเมือง หากประธานกรรมการหรือคณะกรรมการใช้อำนาจที่มีตอบสนองผลประโยชน์ระยะสั้นของฝ่ายการเมือง จะส่งผลเสียต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และอาจเกิดความเสียหายที่ไม่สามารถแก้ไขหรือย้อนกลับได้
นอกจากนี้ หากการครอบงำครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ก็มีแนวโน้มว่าฝ่ายการเมืองจะใช้วิธีเดียวกันในการคัดเลือกผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงกลางถึงปลายปีหน้า โดยส่งบุคคลที่มีความสนิทชิดใกล้ทางการเมืองเข้ามาดำรงตำแหน่งเพื่อประโยชน์ทางการเมือง
กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมขอเรียกร้องให้คณะกรรมการคัดเลือกที่กำลังจะทำการพิจารณาในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต เที่ยงธรรม โปร่งใส และมีธรรมาภิบาล โดยไม่ยอมรับแรงกดดันจากการเมือง เพื่อรักษาสถาบันที่สำคัญอย่างธนาคารแห่งประเทศไทยที่สังคมไทยในอดีตได้ร่วมกันพัฒนาและปกป้องมาอย่างดี
พร้อมกันนี้เราขอเชิญชวนภาคส่วนอื่นในสังคมร่วมแสดงจุดยืนโดยการร่วมลงนามในด้านล่างของแถลงการณ์นี้ เพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทยให้หลุดพ้นจากผลประโยชน์ระยะสั้นทางการเมืองและสามารถรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจไทยในระยะยาว รวมทั้งธำรงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในสายตาของนานาอารยะประเทศ
ทั้งนี้ การประชุมเพื่อพิจารณาลงมติคัดเลือกประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท. ในวันที่ 4 พ.ย.2567 มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน
บุคคลที่ปรากฏชื่อว่าจะได้รับการคัดเลือกเป็นประธานบอร์ด ธปท. คือ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ และอดีตที่ปรึกษาของนายกฯ ในยุครัฐบาลเศรษฐา
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการสรรหาประธานบอร์ด ธปท. ได้มีการเลื่อนการประชุมลงมติเลือกประธานบอร์ด ธปท. ไปเป็นวันที่ 4 พ.ย. เนื่องจากเลขานุการคณะกรรมการสรรหาฯ ต้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม
โดยเมื่อวานนี้ (30 ตุลาคม 2567) นายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งหนังสือให้พรรค พท. ให้ชี้แจงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ว่าไม่มีตำแหน่งทางการเมืองในพรรค พท.แล้ว และไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับพรรค พท.
ทั้งนี้ ตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธปท. มาตรา 18 (5) ระบุว่า กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท. ต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง เว้นแต่จะพ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
สำหรับนายกิตติรัตน์ ที่ผ่านม จะแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการทำงานของ ธปท. อย่างเปิดเผยทาง ผ่านสื่อและ social media ต่างๆ รวมถึง FB ส่วนตัว เช่น ต้องปลดผู้ว่า ธปท. เพราะไม่ยอมลดดอกเบี้ย เป็นต้น