ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โพสต์เฟสบุ๊ก “Somchai Jitsuchon” ระบุ
แนวคิดในการบริหารนโยบายการเงินเป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ง่าย ไม่สามารถใช้ common sense ในการทำความเข้าใจได้ (อดีตผู้บริหารท่านนึงของ ธปท. ถึงกับบอกว่ามักจะ against common sense ด้วยซ้ำ)
ด้วยเหตุนี้จึงมีการ ‘ใช้เหตุผล’ ที่ฟังเหมือนถูก แต่จริง ๆ ไม่ถูกหลายประการในการถกเถียงเรื่องความเหมาะสมในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมา และลามมาถึงการถกเถียงในเรื่องความพยายามส่งคนของฝ่ายการเมืองเข้ามามีบทบาทระดับสูงในธนาคารแห่งประเทศในระยะหลังนี้
หนึ่งในเหตุผลที่ดูเหมือนใช่ แต่จริง ๆ ไม่ถูก คือความเห็นว่าการแทรกแซงจากการเมืองในธนาคารกลางไม่ใช่เรื่องเสียหายเสมอไป เพราะหลายครั้งธนาคารกลางก็ทำไม่ถูก ถ้ามีการแทรกแซงและทำให้ถูกต้องขึ้นก็น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า และมีการยกตัวอย่างตอนต้มยำกุ้งที่ ธปท. ตัดสินใจพลาดในหลายเรื่องจนทำความเสียหายให้เศรษฐกิจไทยอย่างใหญ่หลวง
ฟังดูดีใช่ไหมครับ?
แต่จริง ๆ ไม่ถูกครับ เพราะถ้าคิดแบบนี้แล้วเปิดช่องให้การเมืองเข้ามามีอิทธิพลได้ ‘ตลอดเวลา’ และ ‘ทุกเมื่อที่ต้องการ’ สิ่งที่ตามมาคือ (ก) การกดดันให้นโยบายการเงินสนองตอบผลประโยชนน์ระยะสั้น ซึ่งเรื่องนี้พูดกันมากแล้ว (ข) ไม่มีใครรับประกันได้ว่าการแทรกแซงครั้งไหนช่วยป้องกันความเสียหายที่ธนาคารกลางอาจดำเนินนโยบายผิดพลาด และครั้งไหนการแทรกแซงก่อความเสียหายเสียเอง (ค) สำคัญที่สุดคือการดำเนินนโยบายการเงินจะ ‘คาดเดาไม่ได้’ ในมุมมองของตลาดเงิน ตลาดทุน และภาคส่วนอื่น เพราะคงไม่มีฝ่ายการเมืองใดสามารถสร้าง ‘กรอบแนวคิดการแทรกแซง’ ที่โปร่งใส เข้าใจได้ คาดเดาได้ ไม่เหมือนกรอบแนวคิดการดำเนินนโยบายการเงินอย่างมีอิสระของธนาคารกลางที่ได้รับการพัฒนาอย่างยาวนานในเรื่องความโปร่งใส และคาดเดาได้
การคาดเดาไม่ได้ก็เป็นเรื่องใหญ่กว่าที่จะเข้าใจได้ด้วย common sense ว่าทำไมถึงสำคัญ จะเข้าใจมากขึ้นถ้าเอาข้อเท็จจริงว่าธนาคารกลางมีบทบาทสำคัญในการกำหนดขนาดและทิศทางของปริมาณเงิน สินเชื่อ การปริวรรศเงินตราต่างประเทศ ฯลฯ ซึ่งจะมีผลต่อราคาหลักทรัพย์หลากหลายประเภท หากคาดเดาไม่ได้ หรือคาดเดาได้ยาก ก็จะทำให้ต้นทุนการดำเนินกิจกรรมการเงินและการลงทุนสูงขึ้น ยังมิพักต้องกล่าวถึงเรื่องการคาดการณ์เงินเฟ้อทีจะถูกกระทบจนทำให้เงินเฟ้อหลุดกรอบจนยากจะกู่กลับ ซึ่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจมากเกินบรรยาย
แน่นอนว่าธนาคารกลางทุกแห่งรวมทั้ง ธปท. ก็ยังจะตัดสินใจผิดพลาดได้ แต่วิธีแก้ไม่ใช่อนุญาตให้ฝ่ายการเมืองเข้าแทรก แต่เป็นการส่งเสริมให้ธนาคารกลางทำการสื่อสารเพื่ออธิบายการตัดสินใจทางนโยบายที่ชัดเจน มี
กลไกรับผิดชอบหากทำผิดพลาด (เช่นการออกรายงาน ‘รับผิด’ ว่าทำไมพลาดเป้าเงินเฟ้อ และจะ ‘แก้ไขอย่างไร’) ซึ่งต้องทำอย่างโปร่งใส เปิดเผยต่อสาธารณชน กล่าวอีกนัยหนึ่งธนาคารกลาง ‘ต้องไม่เป็นอิสระ’ จากสาธารณชน ต้องพร้อมรับผิดชอบ เพราะผลประโยชน์ของสาธารณชนย่อมอยู่เหนือกว่าผลประโยชน์ของกลุ่มการเมืองใด ๆ