ธอส. คว้า 7 รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2567

Date:

นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธอส. เข้ารับรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2567 จำนวนรวมทั้งสิ้น 7 รางวัล นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของ ธอส.ซึ่งสะท้อนการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพของคณะกรรมการธนาคาร ผู้บริหารระดับสูง และผู้ปฏิบัติงานกว่า 5,000 คน ที่ได้ดำเนินงานตามพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” มาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2567 ธอส. สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ถึง 236,547 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้ เป็นการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน3 ล้านบาท ถึง 123,774 ราย ขณะเดียวกัน ยังช่วยรักษาบ้านให้คนไทย สามารถดูแลลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ผ่านมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ปี 2567 และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ (SM) และลูกค้าสถานะ NPL ให้ได้รับความช่วยเหลือปรับลดดอกเบี้ยและลดเงินงวดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ธอส. ยังพัฒนาด้านดิจิทัลให้กับผู้ที่ยังขาดโอกาสในการมีบ้านเป็นของตนเองได้เข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยง่ายขึ้น ด้วยการให้บริการฟังก์ชัน “โรงเรียนการเงิน” บน Application : GHB ALL GEN เพื่อให้ประชาชนที่ต้องการขอสินเชื่อ แต่ไม่สามารถแสดงเอกสารหรือแหล่งที่มาของรายได้มาเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของ ธอส. เพื่อออมเงินอย่างสม่ำเสมอผ่าน Application : GHB ALL GEN เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 12 เดือน (ทุกบัญชีรวมกัน) เพื่อนำหลักฐานการออมเงิน ดังกล่าวมาใช้ประกอบการยื่นขอสินเชื่อกับ ธอส. ในอนาคต รวมถึงการเล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยผ่านกิจกรรมการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือ CSR โดยธนาคารให้ความสำคัญและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องควบคู่กับการดำเนินงานตามภารกิจหลักในการสนับสนุนสินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง โดยทั้งหมดนี้นำมาซึ่งรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นประจำปี 2567 ทั้ง 7 รางวัล โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. รางวัลการพัฒนาสู่รัฐวิสาหกิจยั่งยืน สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของธนาคารในการเป็น Sustainable Bank และการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์โครงการและเป้าหมาย ด้านความยั่งยืนขององค์กรผ่านมิติ ESG เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และส่งเสริมการเข้าถึงที่อยู่อาศัยอย่างทั่วถึง ผ่านสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อกลุ่มผู้รายได้น้อยและปานกลาง ตามหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) รวมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม อาทิ ฟังก์ชัน โรงเรียนการเงินใน Application : GHB ALL GEN เพื่อเป็นช่องทางในการให้ความรู้ทางการเงิน และนำข้อมูลรายรับ-รายจ่ายเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาสินเชื่อสำหรับกลุ่มอาชีพอิสระที่ไม่มีหลักฐานทางการเงิน รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์พันธบัตรเพื่อความยั่งยืน และสินเชื่อที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สนับสนุนมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนสำหรับที่อยู่อาศัย

2. รางวัลการพัฒนาสู่รัฐวิสาหกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นผลมาจากการขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเป็นระบบตามทิศทางยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งในมิติ People, Process และ Technology โดย ธอส. ได้พัฒนา IT Service เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผ่านการพัฒนา Digital Customer Journey ผ่านช่องทาง Application : GHB ALL GEN แบบครบวงจรสำหรับลูกค้าธนาคาร และเว็บไซต์ GHB Big family เพื่อให้บริการที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร และการพัฒนา IT Infrastructure เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานรองรับปริมาณธุรกรรมที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งใช้ Data Analytic เพื่อนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ที่แม่นยำขึ้น และดำเนินการตามมาตรฐานสากล เช่น มาตรฐาน ISO 27001 การจัดการความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ ป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ และมั่นใจได้ว่าการให้บริการดิจิทัลมีความปลอดภัยและสอดคล้องกับกฎหมาย

3. รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น ด้านความคิดสร้างสรรค์ ประเภทดีเด่น ที่ได้รับจากโครงการ GHB FlexiData Home Loans เกิดจากการบูรณาการโครงการความคิดสร้างสรรค์ของ ธอส. ที่ผ่านการประกวดโครงการ Idea Lab จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1. GHB Financial Discipline (GHB ALL GEN) 2. CREDISCORE (Risk Base Pricing) และ 3.GHB Home Matching ซึ่งเป็นการยกระดับกระบวนการให้บริการสินเชื่อ โดยมุ่งเน้นกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ประกอบอาชีพอิสระ ด้วยการพัฒนาโมเดลการวิเคราะห์สินเชื่อโดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เพื่อหาความสามารถในการชำระหนี้ที่แท้จริงผ่านการจัดทำ Data portability เพื่อรวบรวมข้อมูลทางเลือก (Alternative data) ปัจจัยที่เป็นกลไกการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่สอดคล้องกับความเสี่ยงของผู้กู้ และนำผลลัพธ์จากโมเดลมาเป็นส่วนประกอบในการพิจารณาสินเชื่อและจัดทำผลิตภัณฑ์สินเชื่อแบบเฉพาะกลุ่ม

4. รางวัลบริการดีเด่น ได้รับจากโครงการ GHB Ecosystem Service: การให้บริการเรื่องบ้านเพื่อคนไทยแบบครบวงจร มุ่งนำความเชี่ยวชาญด้านที่อยู่อาศัยของธนาคารมายกระดับการบริหารจัดการองค์กรเพื่อมุ่งสู่ระบบนิเวศด้านที่อยู่อาศัย (Housing Ecosystem) และยกระดับการให้บริการอย่างครบวงจรครอบคลุมทุกมิติ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ กระบวนการ บุคลากร เทคโนโลยีสารสนเทศ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเพิ่มประสิทธิภาพการบริการทั้งก่อนและหลังการเป็นลูกค้าของ ธอส. ตอบสนองต่อความต้องการความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียทุกกลุ่มตามลำดับความสำคัญ โดยเฉพาะการยกระดับการให้บริการตาม Digital Customer Journey เพื่อให้สอดคล้องต่อตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ขององค์กรในการเป็น Best: Housing Ecosystem ภายในปี 2568

5. รางวัลความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาดีเด่น ประเภทเชิดชูเกียรติ ที่ได้รับจากโครงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์และบริการของการไฟฟ้านครหลวงร่วมกับโครงการสินเชื่อพร้อมใช้และโครงการ GHB Big Family ของ ธอส.ระหว่างธนาคารอาคารสงเคราะห์และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เป็นโครงการที่ดำเนินการเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนด้านพลังงาน โดยดำเนินงานให้สอดคล้องกับพันธกิจของทั้งสององค์กรผ่านการผสานความสามารถหลักของแต่ละฝ่าย เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์สำหรับบ้านอยู่อาศัย พร้อมทั้งปรับปรุงระบบไฟฟ้าภายในบ้านให้มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานทดแทน และบริการติดตั้งเครื่องชาร์จรถไฟฟ้า (EV Home Charger) โดย KEN by MEA ของ กฟน. โดยสามารถยื่นขอสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษจาก ธอส. ได้

6. รางวัลความร่วมมือด้านกระบวนการจัดการของรัฐวิสาหกิจ ประเภทเชิดชูเกียรติ ที่ได้รับจากโครงการความร่วมมือด้านกระบวนการจัดการของรัฐวิสาหกิจ ระหว่าง ธอส. และการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ซึ่งเป็นการดำเนินการตามนโยบายของ สคร. สะท้อนถึงความสำเร็จของ ธอส. ในการนำศักยภาพ ขององค์กรไปช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพให้กับ ยสท. ด้าน Core Business Enablers, ด้านการบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายใน และด้านการบริหารทุนมนุษย์ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน เช่น แนวทาง การจัดทำ GRC การพัฒนา Risk Correlation Map และ Portfolio View of Risk และการสนับสนุนระบบ Operational Risk Management System (ORMS) เพื่อให้เกิดการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารความเสี่ยง และสนับสนุนแนวทางการพัฒนาสมรรถนะบุคลากร และ Individual Development Plan (IDP) พร้อมทั้งการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับบุคลากร โดยคณะกรรมการของทั้ง ธอส. และ ยสท. ให้ความสำคัญและสนับสนุนโครงการ มีการประชุมติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ และมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง

7. รางวัลการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดีเด่น ประเภทชมเชย ที่ได้รับจากโครงการ ธอส. สร้างบ้าน สร้างรายได้ เสริมความรู้ สู่การมีบ้าน (Building Futures: Financial Literacy for Career and Homeownership) ซึ่งเป็นโครงการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มุ่งสร้างผลลัพธ์ทั้งที่เห็นผลทันทีและที่จะเกิดในระยะยาวต่อชุมชน ในระยะแรก ธอส.ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนด้วยการสร้างและซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้ที่มีความเดือดร้อน ให้ความรู้ในการประกอบอาชีพ และต่อยอดด้วยโครงการให้ความรู้ทางการเงินสำหรับการประกอบกิจการและการวางแผนครัวเรือน และให้เงินทุนแก่ชุมชนสำหรับเป็นกองทุนกู้ยืมเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และมุ่งเน้นให้คนในชุมชนจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบัน ทางการเงินในระบบได้ ตอบสนองพันธกิจของธนาคาร “ทำให้คนไทยมีบ้าน”

สำหรับงานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น สคร. เป็นผู้จัดงานตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2548 เพื่อประกาศให้สาธารณชนได้ทราบถึงผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจที่ดีเด่นในด้านต่าง ๆ พร้อมกับเป็นกำลังใจให้กับรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ที่ทำภารกิจสนับสนุนการพัฒนาประเทศ และส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจมีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป โดยงานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2567 จัดขึ้น ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

พพ.แจงภารกิจคืนพื้นที่ เกาะร้อยไร่ สำเร็จ 

พพ.แจงภารกิจคืนพื้นที่ เกาะร้อยไร่ สำเร็จ ไม่มีผู้บุกรุกเหลืออยู่ในพื้นที่อีกต่อไป ประกาศปิดพื้นที่เด็ดขาด ห้ามบุกรุกซ้ำ

“บสย. พร้อมค้ำ พร้อมช่วย” สำเร็จเกินคาด

กิจกรรมแก้หนี้เชิงรุก “บสย. พร้อมค้ำ พร้อมช่วย” สำเร็จเกินคาด ช่วย SMEs ลูกหนี้ที่ บสย. จ่ายเคลม “ปลดหนี้” สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ประกาศจุดยืน “อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ”

โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ร่วมเวที CEO Forum ประกาศจุดยืน "อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ" สู่อนาคต Net Zero

“นายกฯแพทองธาร” เป็นสักขีพยานลงนาม FTA ไทย – ภูฏาน

“นายกฯแพทองธาร” เป็นสักขีพยานลงนาม FTA ไทย - ภูฏาน FTA ฉบับที่ 17 ของไทย เปิดตลาดใหม่สู่เอเชียใต้