วิจัยกรุงศรีจ่อปรับลดคาดการณ์ จีดีพีไทย ปีนี้

Date:

วิจัยกรุงศรี ประเมินว่า จากอัตรา GDP ไตรมาส 4 ปี 2567 แม้เติบโตได้ 3.2% YoY แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยแม้จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ สภาพัฒน์ฯ รายงานเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนขยายตัว 3.2% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 3.9% และเมื่อหักผลของฤดูกาลออกแล้ว GDP เติบโตเพียง 0.4% QoQ เทียบกับ 1.2% ในไตรมาสก่อนหน้า สำหรับทั้งปี 2567 เศรษฐกิจไทยยังเติบโตต่ำที่ 2.5% จาก 2.0% ในปี 2566 ส่วนในปี 2568 สภาพัฒน์ฯ ยังคงคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไว้ที่ 2.3-3.3% (ค่ากลางที่ 2.8%)

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ฟื้นตัวต่ำกว่าคาด และแรงส่งมีสัญญาณอ่อนแอลง สะท้อนจาก  (i) การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในระดับเดิมแม้จะมีมาตรการแจกเงินสด แก่กลุ่มเปราะบางกว่า 1.4 แสนล้านบาทตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนปีก่อน (ii) การลงทุนภาคเอกชนยังหดตัวแม้การลงทุนภาครัฐเติบโตเร่งขึ้น ชี้ถึงการขาด crowding-in effect และ (iii) การส่งออกสินค้าแม้ขยายตัวเกินคาด แต่ไม่สามารถช่วยหนุนการลงทุนภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรม

สำหรับแนวโน้มปี 2568 วิจัยกรุงศรีเตรียมปรับลดคาดการณ์ GDP ลงจาก 2.9% เนื่องจาก (i) อุปสงค์ในประเทศอ่อนแอทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน  (ii) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ส่งผลบวกค่อนข้างจำกัด (เฟส 2 วงเงินเพียง 30,000 ล้านบาท และเหลือวงเงินอีก 1.57 แสนล้านบาท สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในปีนี้) (iii) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจไม่เป็นไปตามที่เคยคาดไว้ที่ 40 ล้านคน เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนฟื้นตัวช้า และ (iv) หากสหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีนำเข้าอาจกระทบต่อการค้าและการส่งออกของไทย 

ทั้งนี้ ปัจจัยบั่นทอนและความเสี่ยงข้างต้นเปิดทางให้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ และหากไม่มีการปรับดอกเบี้ยในเดือนนี้ ยังมีโอกาสที่จะเห็นการปรับลดในเดือนเมษายน หลังมีความชัดเจนเรื่องภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ

ความเชื่อมั่นผู้บริโภคฟื้นตัวต่อเนื่องแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ทางการขยายมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพื่อบรรเทาปัญหาหนี้ครัวเรือน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมกราคมปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 สู่ระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน ที่ 59.0 จาก 57.9 ในเดือนธันวาคม ปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การท่องเที่ยวในประเทศที่ปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวก้บโอกาสในการหางาน รายได้ในอนาคต ตลอดจนค่าครองชีพที่ยังทรงตัวในระดับสูง 

แม้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับดีขึ้นต่อเนื่องแต่นับว่ายังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด  (ปี 2562 ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 75.5) ขณะที่แรงหนุนหลักจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นการใช้จ่ายในระยะสั้น อาทิ การแจกเงินสด 10,000 บาท เฟส 1 กับกลุ่มเปราะบาง (ราว 14 ล้านคน) และเฟส 2 แก่กลุ่มผู้สูงอายุ (กว่า 3 ล้านคน) สำหรับแนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนในปีนี้ วิจัยกรุงศรีคาดว่าจะเติบโตชะลอลงจากปีก่อนๆ ส่วนหนึ่งได้รับแรงกดดันจากค่าจ้างที่แท้จริงที่อยู่ในระดับต่ำ โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยปี 2562 (ก่อนโควิด) เพียง 3.2% ประกอบกับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่าย ทั้งนี้ ยังต้องติดตามผลจากมาตรการบรรเทาภาระหนี้ของลูกหนี้รายย่อยผ่านโครงการคุณสู้ เราช่วย ซึ่งล่าสุดมีการขยายไปยังกลุ่มลูกค้านอนแบงก์ และขยายเวลาลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมโครงการออกไปเป็นสิ้นเดือนเมษายนนี้

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

พพ.แจงภารกิจคืนพื้นที่ เกาะร้อยไร่ สำเร็จ 

พพ.แจงภารกิจคืนพื้นที่ เกาะร้อยไร่ สำเร็จ ไม่มีผู้บุกรุกเหลืออยู่ในพื้นที่อีกต่อไป ประกาศปิดพื้นที่เด็ดขาด ห้ามบุกรุกซ้ำ

“บสย. พร้อมค้ำ พร้อมช่วย” สำเร็จเกินคาด

กิจกรรมแก้หนี้เชิงรุก “บสย. พร้อมค้ำ พร้อมช่วย” สำเร็จเกินคาด ช่วย SMEs ลูกหนี้ที่ บสย. จ่ายเคลม “ปลดหนี้” สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ประกาศจุดยืน “อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ”

โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ร่วมเวที CEO Forum ประกาศจุดยืน "อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ" สู่อนาคต Net Zero

“นายกฯแพทองธาร” เป็นสักขีพยานลงนาม FTA ไทย – ภูฏาน

“นายกฯแพทองธาร” เป็นสักขีพยานลงนาม FTA ไทย - ภูฏาน FTA ฉบับที่ 17 ของไทย เปิดตลาดใหม่สู่เอเชียใต้