
นายเมธัส รัตนซ้อน นักเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) เปิดเผยว่า TISCO ESU คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.25% ในการประชุมนัดแรกของปีในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต (Policy Space) ท่ามกลางประสิทธิผลของนโยบายการเงินที่ลดลง โดยเฉพาะในสภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง
“จากสัญญาณที่ กนง. ส่งออกมาในการประชุม Monetary Policy Forum เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทำให้ TISCO ESU มองว่า กนง. จะเลือกคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ก่อน พร้อมติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจ และทิศทางนโยบายต่าง ๆ ของประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะนโยบายการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ (Tariff)” นายเมธัส กล่าว
ทั้งนี้ TISCO ESU ประเมินว่า กนง. มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% หรือ 25 bps 1 ครั้งในปีนี้ โดยจะปรับลดในช่วงกลางปีเป็นต้นไป จากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มปรับลดตั้งแต่การประชุมนัดแรกของปี 2568
เศรษฐกิจไทยกับการเติบโตที่เปราะบาง
สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทย หากย้อนไปในปี 2567 พบว่า เศรษฐกิจขยายตัวเพียง 2.5% ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ของหลายฝ่าย รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยเฉพาะในไตรมาส 4 ที่เติบโตเพียง 3.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) สะท้อนถึงความเปราะบางและการฟื้นตัวที่ล่าช้า
“TISCO ESU ประเมินว่า ภาคการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และธุรกิจเอสเอ็มอี ยังคงมีความน่าเป็นห่วง จากอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) ที่ลดลงต่อเนื่อง และข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อ ส่งผลให้การลงทุนของภาคเอกชนหดตัวต่อเนื่องกว่า 3 ไตรมาส อย่างไรก็ดี รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งออกมาตรการช่วยเหลือโดยเร็ว เพราะหากปล่อยให้สินค้าราคาถูกจากต่างประเทศและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นกดดันธุรกิจในประเทศ ต่อไปก็อาจนำไปสู่ การปิดโรงงานและการปลดพนักงานเพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนที่อ่อนแออยู่แล้วให้ย่ำแย่ลงไปอีก”
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568 โอกาสและความท้าทาย
นายเมธัส กล่าวว่า ในปี 2568 แม้เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน แต่ยังมีโอกาสขยายตัวที่ 3.0% หากภาครัฐสามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนโครงการขนาดใหญ่ทั้งจากรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ รวมถึงสามารถดึงเม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ให้เกิดขึ้นจริง จากยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนของ BOI ในปี 2567 ที่มีมูลค่าสูงสุดในรอบ 10 ปี ขณะที่การบริโภคในประเทศ แม้จะมีแนวโน้มชะลอลงจากปี 2567 แต่ยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ โดยคาดว่าจะมีแรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่คาดว่าจะมีการแจกเงินเพิ่มเติมอีกหลายเฟส
“เศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโตที่ 3% แต่มีความเสี่ยงด้านลบ (Downside Risk) หลายประการ ทั้งภาระหนี้สินภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง การเติบโตของรายได้ที่ยังไม่ทั่วถึง คุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง ความยากลำบากในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเอสเอ็มอี ภาคการผลิตทีี่เผชิญแรงกดดัน รวมถึงความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด” นายเมธัส กล่าว