ส่องสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย…น่าห่วงแค่ไหน?

Date:

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเริ่มส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นวงกว้าง สะท้อนจากตัวเลขยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 3 ของปี 2567 ยังคงอยู่ในระดับสูงราว 16.3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 89% ของจีดีพี ซึ่งแม้ว่าจะชะลอลงไปบ้างจากจุดสูงสุดในปี 2566 แต่เป็นการลดลงจากผลของการชะลอการปล่อยสินเชื่อเป็นหลัก ซึ่งระดับของหนี้ครัวเรือนไทยในปัจจุบันยังถือว่าสูงกว่าอีกหลาย ๆ ประเทศที่มีรายได้ต่อหัวใกล้เคียงกัน อีกทั้งในมิติของคุณภาพหนี้ก็ย่ำแย่ลงหลังจากหมดมาตรการช่วยเหลือทางการเงินในช่วงโควิด-19 

ทั้งนี้ ttb analytics ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลบัญชีลูกหนี้ที่ไม่สามารถระบุตัวตน (Anonymous Account) มากกว่า 84 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้คงค้างกว่า 13.6 ล้านล้านบาท จากฐานข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) โดยพบ 5 ประเด็นที่น่าห่วง ดังนี้

ประเด็นที่ 1 : เกือบ 40% ของคนไทยเป็นหนี้ในระบบ โดยมีหนี้เฉลี่ยต่อคนเกิน 1 แสนบาท

ภาพรวมคุณภาพหนี้ครัวเรือนตามฐานข้อมูล NCB พบว่า สัดส่วนประชากรไทยที่มีหนี้ในระบบเพิ่มขึ้น จาก 31% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในปี 2561 เป็น 38% ในปี 2567 สะท้อนถึงจากการเข้าถึงสินเชื่อที่ง่ายขึ้น ประกอบกับการผ่อนคลายมาตรการทางการเงินเป็นพิเศษในช่วงวิกฤตโควิด-19 ยิ่งกว่านั้น สัดส่วนคนไทยที่มีหนี้เสียมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่ผ่านพ้นช่วงโควิด-19 โดยพบว่า สัดส่วนคนไทยที่เป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้นจาก 17% ในปี 2561 เป็น 22% ในปี 2567 ขณะที่ยอดหนี้สินเฉลี่ย (Median) ต่อผู้กู้ตลอดทุกช่วงอายุลดลงเล็กน้อยจาก 1.48 แสนบาท เป็น 1.18 แสนบาทต่อคน 

ประเด็นที่ 2 : วัยสร้างครอบครัวเป็นกลุ่มที่แบกหนี้มากที่สุด

โดยวัยสร้างครอบครัวถือเป็นกลุ่มที่ก่อหนี้มากที่สุด โดยคิดเป็น 62% ของประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 35-50 ปี โดยส่วนใหญ่เป็นการก่อหนี้ส่วนบุคคล 43% รองลงมาคือหนี้เช่าซื้อรถและหนี้บัตรเครดิต 23% และ 17% ตามลำดับ นอกจากนี้ กลุ่มวัยสร้างครอบครัวมักมีหนี้บ้านเพิ่มเติมขึ้นมาเพื่อสร้างหลักปักฐาน ซึ่งหนี้บ้านเป็นหนี้ที่กินระยะเวลาผ่อนค่อนข้างนาน จึงทำให้กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ต้องแบกรับภาระหนี้เฉลี่ยสูงถึง 1.54 แสนบาทต่อคน

ประเด็นที่ 3 : วัย First Jobber ส่วนใหญ่เริ่มต้นจากการเป็นหนี้มอเตอร์ไซค์และหนี้ส่วนบุคคล  

ปัจจุบันอายุเฉลี่ยของลูกหนี้มีแนวโน้มลดลง หรือเรียกได้ว่าเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยกลุ่มคนที่เพิ่งเข้าสู่วัยทำงานหรือ First Jobber (อายุ 25-29 ปี) ซึ่งมีอยู่ประมาณ 4.6 ล้านคน แต่กว่า 57% ของคนกลุ่มนี้เริ่มเข้าสู่วงจรหนี้ โดยเฉพาะลูกหนี้ในช่วงอายุระหว่าง 20-22 ปี ที่มักเริ่มต้นจากการก่อหนี้มอเตอร์ไซค์และหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลเป็นอันดับต้น ๆ โดยคิดเป็นสัดส่วนบัญชีมากถึง 41% และ 43% ของจำนวนประชากรในช่วงอายุดังกล่าว ยิ่งกว่านั้น บัญชีลูกหนี้ที่มีหนี้มอเตอร์ไซค์ในกลุ่มอายุนี้กว่า 20-30% ของทั้งหมดเป็นหนี้เสีย   

ประเด็นที่ 4 : ลูกหนี้มักก่อหนี้ส่วนบุคคลไปตลอดชีวิต

ในระยะหลังพบว่าพฤติกรรมของลูกหนี้หันไปก่อหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อพยุงการบริโภคมากขึ้น โดยหากพิจารณาสัดส่วนจำนวนบัญชีสินเชื่อต่อจำนวนบัญชีทั้งหมดของลูกหนี้ตั้งแต่อายุ 20-80 ปี พบว่า ลูกหนี้ตลอดทุกช่วงอายุมีสัดส่วนบัญชีสินเชื่อส่วนบุคคลมากกว่า 40% ของบัญชีทั้งหมด นอกจากนี้ ยังพบว่า สัดส่วนจำนวนบัญชีหนี้ส่วนบุคคลทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลในกลุ่มคนที่ยังไม่มีภาระสินเชื่อบ้านหรือรถยนต์สูงถึง 12.1 ล้านบัญชี ขณะที่จำนวนบัญชีและภาระหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลที่ผูกกับสินเชื่อบ้านและ/หรือรถยนต์ มีสัดส่วน 28.2% ของบัญชีสินเชื่อทั้งหมด (หรือ 6.6 ล้านบัญชี) เพิ่มขึ้นจาก 26.2% ของบัญชีสินเชื่อทั้งหมดในปี 2561 ซึ่งสวนทางกับสัดส่วนหนี้บ้านหรือหนี้รถที่มักจะเพิ่มขึ้นในช่วงของลูกหนี้ในวัยทำงานเป็นหลัก   

ประเด็นที่ 5 : 1 ใน 3 ของประชากรหลังวัยเกษียณยังคงเป็นหนี้ ซึ่งมากกว่า 10% เป็นหนี้เสีย

จากข้อมูล NCB พบว่า ในปี 2567 กว่า 29% ของประชากรที่มีอายุระหว่าง 60-80 ปียังคงมีหนี้ในระบบ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่อยู่ที่ 20% ของประชากรในช่วงอายุดังกล่าว ขณะที่ปริมาณหนี้ก็ยังค่อนข้างสูงเฉลี่ย 1.02 แสนบาทต่อคน ซึ่งสูงเมื่อเทียบกับปริมาณหนี้ในระบบของประชากรในช่วงวัยทำงาน (อายุ 25-35 ปี) ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 9.7 หมื่นบาทต่อคน ยิ่งกว่านั้น สัดส่วนหนี้เสียที่เกิดขึ้นจากบัญชีลูกหนี้ในช่วงอายุ 60-70 ปี ยังค่อนข้างสูงถึง 14% ของบัญชีหนี้ในระบบ ซึ่งกลุ่มนี้กำลังกลายเป็นปัญหาเรื้อรังจากความสามารถในการหารายได้ในช่วงบั้นปลายชีวิตค่อนข้างต่ำ สวนทางกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่นับวันจะเพิ่มขึ้นตามอายุ

ttb analytics มองว่าประเด็นเรื่องหนี้ครัวเรือนไทยที่กล่าวมาข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยทุกช่วงวัยกำลังประสบปัญหา “รายได้โตไม่ทันรายจ่าย” กระทบต่อความสามารถชำระหนี้ ก่อหนี้วนลูป จนกลายเป็นหนี้พอกเรื้อรัง ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วงวัย

1 วัยเริ่มทำงาน : เป็นช่วงที่คนเริ่มมีรายได้หลังเรียนจบ แต่รายได้ยังไม่สูงนัก แต่กลับต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นตาม เรียกได้ว่ากลุ่มนี้ “ชนกำแพงรายได้” ซึ่งแม้ว่ากลุ่มวัยเริ่มทำงานจะเป็นกลุ่มที่ยังมีศักยภาพในการหารายได้ในอนาคต แต่ด้วยไลฟ์สไตล์การชีวิตของกลุ่มนี้ซึ่งในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Gen Z (อายุระหว่าง 20-30 ปี) จึงมักเห็นพฤติกรรมการก่อหนี้โดยขาดวินัยทางการเงินที่ดี ทำให้รายได้ที่เพิ่มขึ้นน้อยอาจไม่เพียงพอกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว  

2 กลุ่มวัยเกษียณ : จะเป็นช่วงวัยที่รายรับน้อย แต่รายจ่ายยังมีอยู่ จึงต้องหันมาพึ่งพาเงินออม รวมถึงสวัสดิการอื่น ๆ หลังเกษียณ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มที่ “ชนกำแพงอายุ” เนื่องจากความสามารถในการหารายได้ลดลงมากเมื่อแก่ตัวลง แต่กลับยังต้องแบกภาระหนี้เรื้อรังที่สะสมมาตั้งแต่วัยทำงาน 

3 กลุ่มวัยสร้างครอบครัว : โดยทั่วไปเป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อและการชำระหนี้ได้ดีกว่า 2 กลุ่มแรก แต่ภาระหนี้ที่ต้องแบกรับสูงตั้งแต่วัยเริ่มทำงาน รวมถึงยังมีภาระรุมเร้ารอบด้านทั้งเพื่อการใช้จ่ายส่วนตัว สร้างครอบครัว ชำระหนี้เดิมที่มีอยู่ ตลอดจนรับผิดชอบพ่อแม่ รวมถึงดูแลลูกไปพร้อมกัน จึงพบเห็นบางกลุ่มมีปัญหาสภาพคล่องที่น้อยลง ซึ่งมักจะเห็นกลุ่มนี้มีแนวโน้มก่อหนี้ในระดับสูงมากที่สุด เรียกได้ว่าเป็นกลุ่ม “ชนกำแพงรายจ่าย” อย่างแท้จริง

    ฉะนั้นแล้ว การจะแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยอย่างจริงจัง จึงไม่ได้เป็นเพียงการแก้ไขในระดับครัวเรือนเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องลงลึกไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้างด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ยังคงเป็นประเด็นเรื้อรังมาจวบจนปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านมา ภาครัฐและสถาบันการเงินพยายามเร่งแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนมาโดยตลอด โดยมีแนวทางการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ ไม่ว่าจะเป็นการรวบหนี้ (Debt Consolidation) การแก้ปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) หรือมาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” แต่ท้ายสุดแล้ว การปลูกฝังทัศนคติและวินัยทางการเงินที่ดีตั้งแต่อายุยังน้อย และสร้างแรงจูงใจที่จะก่อหนี้ในระดับที่เหมาะสมกับความสามารถ จะช่วยลดภาระหนี้ของคนไทยได้อย่างยั่งยืน 

    Share post:

    spot_img
    spot_img

    Related articles

    นายกฯ ลุยอังกฤษ มอบประกาศ 20 ร้านอาหารไทย

    นายกฯ ลุยอังกฤษ มอบประกาศ 20 ร้านอาหารไทย ชวนต่างชาติสัมผัสเสน่ห์รสชาติไทยแท้ ยกระดับตรา Thai SELECT ติดดาวเทียบชั้นมิชลิน

    นายกฯ โพสต์ภาพคู่ให้กำลังใจอาปู

    นายกฯ โพสต์ภาพคู่ให้กำลังใจอาปู หลังศาลสั่งชดใช้จำนำข้าวหมื่นล้าน

    ธปท. สั่งสอบแบงก์พาณิชย์ให้ลูกค้าเปิดบัญชีม้า

    ธปท. สั่งสอบแบงก์พาณิชย์ให้ลูกค้าขบวนการคอลเซ็นเตอร์ เปิดบัญชีม้าหลอกลวงประชาชน

    AOT รุกสร้างเครือข่าย Cargo Network

    AOT รุกสร้างเครือข่าย Cargo Network เสริมแกร่งระบบขนส่งสินค้า ยกระดับสนามบินไทยสู่ศูนย์กลาง โลจิสติกส์ภูมิภาค