SCB FM มองเงินบาทอาจอ่อนค่าต่อ

Date:

กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets: SCB FM) เปิดเผยว่า แม้สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงกว่าที่คาด แต่เงินบาทยังอ่อนค่าตามกรอบที่ประเมินไว้ สำหรับในระยะสั้นนี้ มองว่าปัจจัยเรื่อง Tariffs จะไม่ทำให้เงินบาทอ่อนค่ากว่านี้มากนัก เพราะสหรัฐฯ จะใช้มาตรการภาษีนี้ในการเปิดการเจรจากับประเทศคู่ค้า โดยหากไทยบรรลุข้อตกลงได้ ก็อาจทำให้ตลาดคลายความกังวลและแรงกดดันต่อเงินบาทอาจลดลง อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยอื่นที่อาจทำให้บาทอ่อนค่าได้ในระยะ 1-2 เดือนนี้ คือการจ่ายเงินปันผล (Dividend payout) ของผู้ประกอบการต่างชาติกลับไปให้บริษัทแม่ในต่างประเทศ จึงมองว่าเงินบาทอาจอ่อนค่าในกรอบ 34.15-34.65สำหรับในระยะกลาง-ยาว SCB FM มองว่า หากประเทศอื่น ๆ ไม่มีการตอบโต้รุนแรง และผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและสหรัฐฯ มีจำกัด เงินบาทต่อดอลลาร์ ณ ปลายปีนี้อาจอยู่ที่ราว 32.50-33.50 ได้ แต่หากผลกระทบจากมาตรการ Tariffs ต่อภาพรวมเศรษฐกิจออกมารุนแรง ทำให้ตลาดเกิดความกังวลต่อ Recession risk เกิดเป็น Risk-off เงินบาท ณ ปลายปีอาจอ่อนค่าไปที่ราว 34.00-35.00

นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส สายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ล่าสุดนี้ ทำให้ความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยสูงขึ้น และมีการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงออกมา จนทำให้เงินบาทอ่อนค่าแรง โดยหลังทรัมป์ประกาศมาตรการ เงินบาทอ่อนค่าขึ้นถึง 30 สตางค์ ก่อนที่จะทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย และล่าสุดอยู่ที่ราว 34.30 บาท นอกจากนี้ มาตรการยังส่งผลต่อตลาดการเงินโลกอีกด้วย โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Treasury yields) ปรับลดลงถึง 10-15 bps ขณะที่ราคาทองคำสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และเงินเยนแข็งค่า (ด้วยมุมมอง safe-haven currency) ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับลดลง ขณะที่ตลาดหุ้นเอเชียเปิดมาวันนี้ติดลบ ราคานำมันปรับลดลงเช่นกัน ตามความกังวลว่ามาตรการภาษีจะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอ

สหรัฐฯ ตั้งอัตราภาษี “ตอบโต้” โดยคำนวณจากอัตราภาษีที่แต่ละประเทศเก็บกับสหรัฐ และการตั้งมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff barriers) ซึ่งจะพบว่า แม้ส่วนต่างอัตราภาษี Effective tariffs rates ของไทยกับสหรัฐฯ จะต่างกันราว 7% แต่สหรัฐฯ ประเมินว่าไทยมีมาตรการกีดกันทางการค้าอื่น ๆ รวมถึงการแทรกแซงค่าเงิน ทำให้เทียบได้ว่ามีส่วนต่างภาษีจากสหรัฐฯ รวมทั้งสิ้นราว 72% (ซึ่งคำนวณจากการนำ Trade balance ระหว่างไทย-สหรัฐฯ หารด้วยมูลค่าสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ มาไทย) โดยสหรัฐฯ ตัดสินใจเก็บภาษีนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น 36% (หรือราวครึ่งหนึ่งจากที่สหรัฐฯ ประเมินว่าไทยเก็บจากสหรัฐฯ) ซึ่งสูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ทั้งนี้ เวียดนามถูกเรียกเก็บภาษีที่ 46% ซึ่งสูงกว่าไทย

ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนจะได้รับผลกระทบที่ชัดเจนในระยะสั้นนี้ โดยค่าเงินส่วนใหญ่อ่อนค่าลงเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในทางทฤษฎีนั้น หากราคาสินค้าในต่างประเทศเปลี่ยนไปจากการขึ้นภาษี ค่าเงินจะเป็นตัวปรับสมดุล โดยประเทศที่ถูกขึ้นภาษีก็จะเห็นสกุลเงินนั้นอ่อนค่าลงเพื่อลดทอนผลกระทบต่อผู้ส่งออกของประเทศนั้น ในระยะสั้นนี้ มองว่าปัจจัยเรื่อง Tariffs จะไม่ทำให้เงินบาทอ่อนค่ากว่านี้มากนัก เนื่องจากสหรัฐฯ จะใช้มาตรการภาษีนี้ในการเปิดการเจรจากับประเทศคู่ค้า โดยหากไทยปรับลดภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ในบางกลุ่มสินค้า (เช่น จักรยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าเกษตร) และอาจนำเข้าอาวุธจากสหรัฐฯ รวมถึงออกไปลงทุนในสหรัฐฯ มากขึ้น จะทำให้มีโอกาสที่สหรัฐฯ จะปรับภาษีลงจากที่ประกาศไว้ที่ 36% ได้ ซึ่ง SCB FM มองว่าโอกาสที่ไทยจะเจรจากับสหรัฐฯ ให้ลดภาษีลง มีมากกว่าโอกาสที่จะเกิดข้อพิพาทจนถูกขึ้นภาษีเพิ่ม นอกจากนี้ จะเห็นว่า Reaction ของตลาดในช่วงที่ผ่านมาไม่รุนแรงนัก เพราะมาตรการยังมีความไม่แน่นอนสูงและเปลี่ยนแปลงไปมาได้ง่าย จากที่ประธานาธิบดีมีอำนาจในการแก้ไขได้ทุกเมื่อ จึงทำให้ตลาดยัง Price-in โอกาสที่จะลดอัตราภาษีลงได้ในระยะต่อไป

ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยอื่นที่อาจทำให้บาทอ่อนค่าได้ในระยะ 1-2 เดือนนี้ คือการจ่ายเงินปันผล (Dividend payout) ของผู้ประกอบการต่างชาติกลับไปให้บริษัทแม่ในต่างประเทศ จากการประเมินเบื้องต้นพบว่า การจ่ายเงินปันผลในปีนี้อาจสูงกว่าปีก่อน นำโดยเงินปันผลของกลุ่มธนาคาร ซึ่งมีผลประกอบการในปีที่ผ่านมาค่อนข้างดี โดยนับตั้งแต่กลางเดือนนี้ต่อเนื่องถึงเดือนหน้าอาจมีเม็ดเงินไหลออกจากตลาดการเงินไทย กดดันให้บาทอ่อนค่าเพิ่มเติมได้ เมื่อผนวกกับความเสี่ยงเรื่อง Tariffs จึงมองว่าเงินบาทอาจอ่อนค่าในกรอบ 34.15-34.65

สำหรับในระยะกลาง-ยาว มองว่าความไม่แน่นอนยังสูง และแนวโน้มเงินบาทอาจขึ้นอยู่กับผลกระทบของของมาตรการ Tariffs ต่อเศรษฐกิจโลก และความเชื่อมั่นของตลาดที่ส่งผลต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Portfolio reallocation) ในกรณีฐาน หากประเทศอื่น ๆ ไม่มีการตอบโต้รุนแรง และผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและสหรัฐฯ มีจำกัด ขณะที่เงินเฟ้ออาจปรับสูงขึ้นราว 1-2% ก็อาจทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์แข็งค่าในระยะสั้น และกลับมาอ่อนค่าต่อได้เล็กน้อยในระยะยาว นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องมาตรการภาครัฐในภูมิภาคอื่น เช่น ยุโรป ที่จะลดความน่าสนใจของเงินดอลลาร์ลง ทำให้ในกรณีนี้ SCB FM มองว่าเงินบาทต่อดอลลาร์ ณ ปลายปีนี้อาจอยู่ที่ราว 32.50-33.50 ได้

ในกรณีที่ผลกระทบจากมาตรการ Tariffs ต่อภาพรวมเศรษฐกิจออกมารุนแรง ทำให้ตลาดเกิดความกังวลต่อ Recession risk เกิดเป็น Risk-off นักลงทุนออกจากสินทรัพย์เสี่ยง และเข้าถือสินทรัพย์ปลอดภัย ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะแข็งค่าเร็ว US Treasury yields อาจปรับลดลง ขณะที่เงินภูมิภาคจะอ่อนค่าเพื่อ cushion ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ในกรณีนี้ SCB FM มองว่าเงินบาทต่อดอลลาร์ ณ ปลายปีอาจอ่อนค่าไปที่ราว 34.00-35.00 ได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจนำเข้า/ส่งออกควรพิจารณาป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้บางส่วน ผ่านการใช้ FX Forward ในการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน และอาจพิจารณาใช้สกุลเงินท้องถิ่นมากขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยง

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

พพ.แจงภารกิจคืนพื้นที่ เกาะร้อยไร่ สำเร็จ 

พพ.แจงภารกิจคืนพื้นที่ เกาะร้อยไร่ สำเร็จ ไม่มีผู้บุกรุกเหลืออยู่ในพื้นที่อีกต่อไป ประกาศปิดพื้นที่เด็ดขาด ห้ามบุกรุกซ้ำ

“บสย. พร้อมค้ำ พร้อมช่วย” สำเร็จเกินคาด

กิจกรรมแก้หนี้เชิงรุก “บสย. พร้อมค้ำ พร้อมช่วย” สำเร็จเกินคาด ช่วย SMEs ลูกหนี้ที่ บสย. จ่ายเคลม “ปลดหนี้” สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ประกาศจุดยืน “อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ”

โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ร่วมเวที CEO Forum ประกาศจุดยืน "อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ" สู่อนาคต Net Zero

“นายกฯแพทองธาร” เป็นสักขีพยานลงนาม FTA ไทย – ภูฏาน

“นายกฯแพทองธาร” เป็นสักขีพยานลงนาม FTA ไทย - ภูฏาน FTA ฉบับที่ 17 ของไทย เปิดตลาดใหม่สู่เอเชียใต้