
ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) คาดเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและแปซิฟิกจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.9 ในปีนี้ และจะลดลงอีกอยู่ที่ร้อยละ 4.7 ในปีหน้า ถึงแม้ว่าอุปสงค์ภายในประเทศจะแข็งแกร่งและความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้นจากกระแสความนิยมของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม อุปสรรคจากภาษีศุลกากรและความไม่แน่นอนด้านการค้าจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาค
สำหรับเศรษฐกิจไทย เอดีบีคาดว่า GDP ของไทยยังคงขยายตัวได้ในระยะใกล้ที่ร้อยละ 2.8 ในปี 2568 และร้อยละ 2.9 ในปี 2569 โดยการท่องเที่ยวจะยังคงเป็นแรงขับเคลื่อน หลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจ การบริโภคภาคเอกชนอาจชะลอตัวลงเนื่องจากภาระหนี้ครัวเรือนที่สูง ซึ่งส่วนหนึ่งถูกชดเชยด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและโครงการบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือน ส่วนความเสี่ยงด้านลบที่มีนัยะสำคัญคือหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงซึ่งอาจทำให้การบริโภคชะลอตัว รวมทั้งความตึงเครียดทางการค้าโลกที่เพิ่มมากขึ้นซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต
อนึ่ง การคาดการณ์การเติบโตที่แถลงในวันนี้ได้ถูกสรุปไว้ก่อนการประกาศภาษีศุลกากรใหม่ของรัฐบาลสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ดังนั้นการคาดการณ์พื้นฐานจึงสะท้อนเฉพาะภาษีที่มีผลบังคับใช้ก่อนหน้านั้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม รายงาน ADO ฉบับเดือนเมษายน 2568 นี้ ได้รวมการวิเคราะห์เกี่ยวกับผลกระทบของภาษีที่สูงขึ้นต่อการเติบโตในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกไว้ด้วยเช่นกัน สรุปได้ดังนี้
ความเสี่ยงต่อประมาณเศรษฐกิจ
การเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
▪ การบังคับใช้ภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ที่ประกาศเมื่อต้นเดือนเมษายนอย่างเต็มรูปแบบและการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ในระยะต่อไป อาจทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจแย่ลง และยังคงมีความไม่แน่นอนอย่างมาก
▪ มาตรการตรวจคนเข้าเมืองที่เข้มงวดยิ่งขึ้น และนโยบายการคลังแบบขยายตัวมากกว่าที่คาดไว้อาจกระทบอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ สูงขึ้นเป็นเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้ในปัจจุบัน
ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
▪ ความตึงเครียดใตะวันออกกลางอาจนำไปสู่การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานอีกครั้ง รวมถึงราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของนักลงทุน ขณะที่ความเสี่ยงเกี่ยวกับการยุติสงครามของรัสเซียในยูเครนยังคงมีอยู่ความเปราะบางของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสาธารณรัฐประชาชนจีน
▪ ภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่แย่ลง อาจส่งผลให้แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียที่กำลังพัฒนาอ่อนแอลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นในภูมิภาค