
นางพิทยา วรปัญญาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา อุตสาหกรรมสินเชื่ออุปโภคบริโภคมีอัตราการขยายตัวลดลง โดยปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากรายได้ของครัวเรือนที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และมีภาระหนี้สูง อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2568 เคทีซีสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดในทุกมิติสูงกว่าอุตสาหกรรมจากช่วงเดียวกันของปี 2567 โดยสัดส่วนลูกหนี้บัตรเครดิตเพิ่มเป็น 15.3% จาก 14.6% ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพิ่มเป็น 13.5% จาก 12.4% และสัดส่วนลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล (ไม่รวมสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน) เพิ่มเป็น 6.7% จาก 6.1%”
“แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจไทยมีความอ่อนตัวลงมากกว่าที่คาด เคทีซียังเชื่อว่ากลยุทธ์ของเคทีซีในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคของเทคโนโลยีดิจิทัล จะช่วยให้กลุ่มบริษัทมีความยืดหยุ่นสามารถรองรับและปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่ผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในเชิงการตลาดเคทีซียังเชื่อว่าด้วยกลยุทธ์ที่เน้นสร้างฐานสมาชิกบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล รวมถึงการคัดกรองคุณภาพพอร์ต จะทำให้เคทีซีสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้เมื่อสิ้นสุดปี 2568 ทั้งมูลค่ากำไรที่สูงขึ้นต่อเนื่อง พอร์ตสินเชื่อรวมขยายตัวประมาณ 4%-5% การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเติบโตในอัตรา 10% พอร์ตลูกหนี้บัตรกด เงินสด “เคทีซี พราว” ขยายตัวที่ 3% ยอดลูกหนี้ใหม่ของสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” ที่ 3,000 ล้านบาท และ NPL รวม (หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้) ไม่เกิน 2%”

ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568 กลุ่มบริษัทเคทีซีมีกำไรสุทธิ 1,861 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2% ฐานสมาชิกรวม 3,486,729 บัญชี พอร์ตสินเชื่อรวมมีมูลค่า 107,093 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.7% NPL Ratio ของกลุ่มบริษัทอยู่ที่ 1.97% พอร์ตสมาชิกบัตรเครดิตเท่ากับ 2,796,551 บัตร เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้บัตรเครดิตและดอกเบี้ยค้างรับรวม 70,283 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.5% ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเท่ากับ 74,053 ล้านบาท ขยายตัว 6.7% NPL Ratio บัตรเครดิตอยู่ที่ 1.21% ขณะที่พอร์ตสมาชิกสินเชื่อบุคคลรวม 690,178 บัญชี เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สินเชื่อบุคคล และดอกเบี้ยค้างรับรวม 34,857 ล้านบาท เติบโตที่ 5.2% NPL Ratio สินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 2.35% สำหรับสินเชื่อลูกหนี้ตามสัญญาเช่ามีมูลค่า 1,953 ล้านบาท โดยเคทีซีได้หยุดการปล่อยสินเชื่อประเภทนี้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 ปัจจุบันมุ่งเน้นการติดตามหนี้และบริหารจัดการคุณภาพพอร์ตสินเชื่อที่มีอยู่
สำหรับรายได้รวมของกลุ่มบริษัทเคทีซีในช่วงไตรมาส 1/2568 อยู่ที่ 6,832 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.0% (YoY) จากรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ รายได้ค่าธรรมเนียมด้านร้านค้า รายได้จากการเบิกถอนเงินสดและรายได้ค่าธรรมเนียม Interchange ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยและหนี้สูญได้รับคืนลดลงเล็กน้อย ค่าใช้จ่ายรวม 4,433 ล้านบาทลดลง 1.6% (YoY) จากผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและต้นทุนทางการเงินที่ลดลง สำหรับค่าใช้จ่ายในการบริหารรวมสูงขึ้นหลักๆ จากค่าธรรมเนียมจ่ายเพิ่มขึ้นตามปริมาณธุรกรรม และค่าใช้จ่ายด้านการตลาด โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการบริหารต่อรายได้รวมอยู่ที่ 35.1% ขณะที่ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเท่ากับ 1,594 ล้านบาท ลดลง 5.3% (YoY) จากการตัดหนี้สูญที่ลดลง และต้นทุนทางการเงิน 439 ล้านบาท ลดลง 2.6% (YoY) จากการที่บริษัทมีเงินกู้ยืมลดลง
กลุ่มบริษัทเคทีซียังมีโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่งและมีศักยภาพรองรับการเติบโตในอนาคต ด้วยอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) อยู่ในระดับสูงที่ 18.3% และอัตราหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E Ratio) อยู่ในระดับต่ำที่ 1.58 เท่า ลดลงเมื่อเทียบกับสิ้นไตรมาส 1 ปี 2567 ซึ่งอยู่ที่ 1.83 เท่า และอยู่ระดับต่ำกว่าภาระผูกพัน (Debt Covenants) ซึ่งกำหนดไว้ที่ 10 เท่า และด้วยความสามารถในการรักษาเสถียรภาพในทุกช่วงวงจรธุรกิจ ซึ่งสะท้อนจากความสามารถในการสร้างผลกำไร การมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีและการรักษาตำแหน่งทางการตลาด บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงได้เพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบัน เป็น “AA” จาก “AA-” ในวันที่ 9 เมษายน 2568 ทั้งนี้ เคทีซีมีวงเงินกู้ยืมระยะสั้นคงเหลือ 23,495 ล้านบาท และมีวงเงินกู้ยืมระยะยาวจากธนาคารกรุงไทยคงเหลืออีกจำนวน 2,000 ล้านบาท โดยกลุ่มบริษัทมีหุ้นกู้และเงินกู้ยืมระยะยาวที่จะครบกำหนดในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของปี 2568 จำนวนทั้งสิ้น 11,000 ล้านบาท
นางพิทยากล่าวเพิ่มเติมว่า “เคทีซียังคงมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ระยะยาว ตามประกาศของ ธปท. ที่ 3/2568 เรื่อง การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending: RL) ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 โดยบริษัทได้มีการพิจารณาให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ และไม่ทำให้ลูกหนี้มีภาระหนี้เพิ่มขึ้นจากภาระหนี้เดิมเกินสมควร ได้แก่ การเปลี่ยนประเภทหนี้บัตรเครดิตเป็นหนี้เงินกู้สินเชื่อบุคคลระยะยาว การขยายระยะเวลาชำระหนี้ การปรับลดค่างวด เป็นต้น รายละเอียดเพิ่มเติมคลิก https://www.ktc.co.th/about/news/measure”
“เนื่องจากเคทีซีเป็นสถาบันการเงินในกลุ่มธุรกิจของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จึงเป็นหนึ่งในบริษัทที่ให้ความร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ภายใต้ชื่อโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” โดยสมาชิกสามารถลงทะเบียนผ่าน https://www.ktc.co.th/khunsoo ระหว่างวันที่ 12 ธันวาคม 2567 – 30 เมษายน 2568 นอกจากนี้ เคทีซียังได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยและเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2568 สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่าน https://www.ktc.co.th/en/about/news/earthquake-aid-measures เคทีซีคาดว่ามูลค่าการช่วยเหลือลูกหนี้ตามมาตรการต่างๆ ข้างต้นจะไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลการดำเนินการของกลุ่มบริษัทในภาพรวม”