กนง. มีมติลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% พยุงศก.ไทย

Date:

กนง.
กนง.

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 30 เมษายน 2568

คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25 จากร้อยละ 2.00 เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี โดยให้มีผลทันที ทั้งนี้ 2 เสียง เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

สถานการณ์นโยบายการค้าสหรัฐฯ และการตอบโต้ของประเทศเศรษฐกิจหลักจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ การเงิน และการค้าโลกอย่างมีนัย โดยในปัจจุบันยังอยู่ในระยะเริ่มต้นที่ความไม่แน่นอนสูงมาก เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มปรับลดลง สถานการณ์มีแนวโน้มยืดเยื้อและผลกระทบจะทอดยาวไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าการผลิตโลกที่ทำให้ประสิทธิภาพลดลงในระยะยาว ทั้งนี้ นโยบายการค้าโลกของประเทศเศรษฐกิจหลักในอนาคตยังคาดเดาได้ยาก ส่งผลต่อการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะต่อไป

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับลดลงและมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากนโยบายการค้าโลกและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลงต่ำกว่ากรอบเป้าหมายจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญ ด้านภาวะการเงินโดยรวมยังตึงตัว กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ในการประชุมครั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและรองรับความเสี่ยงด้านต่ำที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งดูแลภาวะการเงินให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป ขณะที่กรรมการ 2 ท่านเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อใช้ในจังหวะที่เกิดประสิทธิผลสูงสุดภายใต้ขีดความสามารถของนโยบายการเงิน (policy space) ที่มีจำกัด

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวลดลงและมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากนโยบายการค้าโลก และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ มองไปข้างหน้า นโยบายการค้าจะเริ่มส่งผลกระทบมากขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2568 อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนยังสูงมาก คณะกรรมการฯ จึงประเมินภาพเศรษฐกิจภายใต้หลายฉากทัศน์ ตัวอย่างเช่น ฉากทัศน์ที่การเจรจาทางการค้ามีความยืดเยื้อและภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ใกล้เคียงกับอัตราปัจจุบัน (reference scenario) อาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2568 ขยายตัวประมาณร้อยละ 2.0 และฉากทัศน์ที่สงครามการค้ารุนแรงมากและภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ อยู่ในอัตราที่สูง (alternative scenario) อาจทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2568 ขยายตัวประมาณร้อยละ 1.3 ทั้งนี้ สิ่งที่เกิดจริงจะขึ้นอยู่กับนโยบายและการปรับตัวของประเทศต่างๆ จึงต้องติดตามพัฒนาการการค้าโลกและผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด การแก้ปัญหาและลดผลกระทบจากนโยบายการค้าข้างต้นจำเป็นต้องผสมผสานนโยบายหลายด้านเสริมกัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลงต่ำกว่ากรอบเป้าหมายจากราคาน้ำมันดิบโลกและมาตรการภาครัฐ ซึ่งมีส่วนช่วยบรรเทาค่าครองชีพและลดต้นทุนของภาคธุรกิจ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทรงตัวและเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย ทั้งนี้ นโยบายกีดกันทางการค้าและการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่การผลิตโลกอาจส่งผลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า

ภาวะการเงินยังตึงตัว สินเชื่อรวมหดตัวเล็กน้อย และคุณภาพสินเชื่อยังปรับด้อยลงโดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อธุรกิจในกลุ่มที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง นอกจากนี้ นโยบายการค้าโลกอาจสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อฐานะการเงินของภาคธุรกิจและครัวเรือน จึงต้องติดตามนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและภาคการเงินที่มีความเชื่อมโยงกัน

ความผันผวนในตลาดการเงินโลกปรับสูงขึ้นจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าประเทศเศรษฐกิจหลัก และส่งผลให้ความผันผวนของตลาดการเงินไทยสูงขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ดี การทำงานของกลไกตลาดการเงินไทยโดยรวมยังคงเป็นปกติ คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินโลกและการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด

ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ประเมินว่าแนวโน้มเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงจะพิจารณาปรับนโยบายการเงินให้เหมาะสมกับแนวโน้มและความเสี่ยงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

“พิชัย” ยกเครื่อง Thai SELECT โฉมใหม่

“พิชัย” ยกเครื่อง Thai SELECT โฉมใหม่  “ติดดาว” ดันซอฟต์พาวเวอร์อาหารไทยสู่ระดับโลก

กรมทรัพย์สินทางปัญญา หารือกองปราบฯ จัดการสินค้าผิดกม.

กรมทรัพย์สินทางปัญญา หารือกองปราบฯ จัดชุดปฏิบัติการพิเศษ ปราบสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา งัดกฎหมายที่เกี่ยวข้องปราบผู้กระทำผิด

ค่าไฟลดอีกแล้ว! ลดเหลือ 3.98 บาท

ค่าไฟลดอีกแล้ว! ลดเหลือ 3.98 บาท งวด พค- สค 68  ’พีระพันธุ์‘ ยืนยันมุ่งมั่นปฏิรูปกฏหมายพลังงาน สร้างเสถียรภาพระยะยาวเพื่อคนไทย

ธอส. ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้กว่า 47,000 ล้านบาท 

ธอส. เผยผลการดำเนินงาน ไตรมาสที่ 1 ปี 2568 ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้กว่า 47,000 ล้านบาท