ไอแบงก์ กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นกว่า 94%

Date:

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-AGM) เมื่อวันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม 2568 ณ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ โดย นายยงยุทธ ชัยพรหมประสิทธิ์ ประธานกรรมการธนาคาร เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วยคณะกรรมการ คณะผู้บริหาร และผู้ถือหุ้น เข้าร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างพร้อมเพรียง

ในการประชุมดังกล่าว ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการธนาคาร ได้รายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2567 พร้อมชี้แจงรายละเอียดทางการเงินตามงบการเงินและหมายเหตุประกอบงบการเงิน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ผ่านการรับรองจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาต และผ่านการพิจารณาผลการตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน รวมทั้งได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นของธนาคารเรียบร้อยแล้ว โดยธนาคารมีผลการดำเนินงานเติบโตอย่างโดดเด่น มีรายได้ทางการเงินรวม 3,396 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงาน จำนวน 482 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 234 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 94 ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจในปี 2567 ที่ยังขยายตัวได้ไม่เต็มที่และภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง แต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจในการดำเนินงานตามพันธกิจ ทำให้ธนาคารมีการขยายสินเชื่อได้ในระดับที่สอดคล้องกับระบบสถาบันการเงิน อีกทั้ง ธนาคารได้ช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางอย่างทันท่วงที ทำให้ธนาคารสามารถควบคุมคุณภาพสินเชื่อได้ ส่งผลให้ภาระการตั้งสำรองหนี้รองรับหนี้ด้อยคุณภาพลดลง ธนาคารมีอัตราส่วนการกันสำรองเพื่อรองรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPF Coverage Ratio) เกินกว่าร้อยละ 100 ซึ่งดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปีก่อน

ตลอดปี 2567 ไอแบงก์ได้ดำเนินกลยุทธ์ 4 แกนหลัก ได้แก่ แผนยุทธศาสตร์ด้านธุรกิจ เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนของพอร์ตสินเชื่อและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs พร้อมบริหารจัดการหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ แผนยุทธศาสตร์ด้านพันธกิจ มีการขยายฐานลูกค้าเงินฝาก โดยเฉพาะเงินฝากอัลฮัจย์และอุมเราะห์ ซึ่งเติบโตกว่า 4 เท่า พร้อมยกระดับการบริการดิจิทัลผ่าน ibank Application โมบายแบงก์กิ้งไอแบงก์ที่ให้บริการตามหลักชะรีอะฮ์บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง ในระยะที่ 2 ซึ่งมีจำนวนธุรกรรมทั้งสิ้นกว่า 2.4 ล้านรายการ และเปิดบริการ Virtual Teller Machine (VTM) แทน ATM เพื่อความทันสมัยและประสิทธิภาพสูงสุด แผนยุทธศาสตร์ด้านองค์กร ไอแบงก์มุ่งพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และขับเคลื่อนองค์กรตามหลัก ESG โดยในปี 2567 ธนาคารได้รับคะแนนประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐสูงถึง 95.59 คะแนน แผนทิศทางองค์กรในอนาคต มุ่งส่งเสริมความเข้าใจในหลักการเงินอิสลามและหลักชะรีอะฮ์ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ รวมทั้งการสรรหาพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความเข้มแข็ง เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนและความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจในอนาคต

ธนาคารยังให้ความสำคัญต่อการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการให้มีความหลากหลาย ตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างครอบคลุม โดยในปีที่ผ่านมาได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เงินรับฝากกว่า 12 โครงการ และผลิตภัณฑ์สินเชื่อ 19 โครงการ ธนาคารยังให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดีพร้อมกับดำเนินธุรกิจด้วยความใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งมั่นในการเป็นสถาบันการเงินที่ให้บริการตามหลักชะรีอะฮ์ เพื่อความยั่งยืน ตลอดไป 

นอกจากนี้ ธนาคารได้ออกแคมเปญ “ไอแบงก์..เรา..ไม่ทิ้งกัน” เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง ลูกหนี้ที่มีรายได้ฟื้นตัวไม่เต็มที่ สร้างโอกาสให้ก้าวต่อ สานต่อจากมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยปรับลดอัตรากำไรสินเชื่อลง 0.20% ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 1.75% ในวันที่ 30 เมษายน 2568 โดยธนาคารได้ส่ง SMS ให้กับลูกค้าที่เข้าเกณฑ์มาตรการดังกล่าวแล้ว ซึ่งลูกค้าที่ได้รับ SMS และสนใจเข้าร่วม สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2568 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ibank Contact Center 1302

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

EXIM BANK ร่วมงานเสวนา ในงาน “MOF Journey 150 ปี”

EXIM BANK ร่วมงานเสวนาและพบปะผู้บริหารกระทรวงการคลังและหน่วยงานพันธมิตรในงาน “MOF Journey 150 ปี เส้นทางการคลังไทย”

สำนักงาน คปภ. จับมือ ญี่ปุ่น หารือกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย

สำนักงาน คปภ. จับมือ ญี่ปุ่น หารือกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย รองรับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินระดับโลก

เลขาธิการ คปภ. เน้นย้ำบทบาทในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย

เลขาธิการ คปภ. เน้นย้ำบทบาทในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของสำนักงาน คปภ. ในหลักสูตร ปธพ. รุ่น 11

สำนักงาน คปภ. จัดสัมมนาอนุญาโตตุลาการที่เชียงใหม่

สำนักงาน คปภ. จัดสัมมนาอนุญาโตตุลาการที่เชียงใหม่ เชื่อมโยงข้อมูลจากพื้นที่ สู่การพัฒนาระบบยุติธรรมทางเลือกเพื่อประชาชน