
KKP Research ปรับ GDP ลงเหลือ 1.7% ในปี 2568 ซึ่งลดลงจากประมาณการก่อนหน้าที่ 2.3% ส่วนหนึ่งสะท้อนผลจากนโยบายการค้าสหรัฐ ฯ ต่อการส่งออก การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าโลกซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจบริโภคและลงทุน อย่างไรก็ตามเมื่อย้อนภาพกลับไปไกลกว่านั้น นักวิเคราะห์คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยสูงเกินไปมาตลอด ซึ่งสะท้อนสองเรื่องสำคัญ คือ 1) เศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงไม่ได้เกิดจากปัจจัยชั่วคราว แต่เป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ไม่ฟื้นขึ้นมาเองเมื่อเวลาผ่านไป 2) ความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดกระทบเศรษฐกิจระหว่างปีและเศรษฐกิจโตได้ต่ำกว่าที่คาด KKP Research ต้องการชี้ให้เห็นว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในความจริงแล้วสาเหตุหลักไม่ได้เกิดจากนโยบายภาษีของ Trump เพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมาอย่างต่อเนื่อง
เศรษฐกิจไทยไม่นับรวมภาคการท่องเที่ยวอยู่ในภาวะถดถอยไปแล้ว
เศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 ได้รับแรงส่งหลักจากภาคการท่องเที่ยวมาโดยตลอดตามฐานการท่องเที่ยวที่อยู่ในระดับต่ำในช่วงการระบาดของโควิด แต่หากไม่นับรวมการท่องเที่ยว จะพบว่าเศรษฐกิจไทยในส่วนที่เหลือหดตัวมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2565 และกลับมาโตเป็นบวกเล็กน้อยแตะระดับ 0% ในช่วง 2 ไตรมาสล่าสุด การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ติดลบต่อเนื่องสะท้อนว่าภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ของไทยที่ไม่รวมการท่องเที่ยว เช่น ภาคอุตสาหกรรม หรือเศรษฐกิจในประเทศอาจเรียกว่าอยู่ในภาวะถดถอยไปแล้ว ซึ่งสะท้อนความอ่อนแอของเศรษฐกิจไทยที่มีมาอยู่ก่อนแล้ว
เมื่อเครื่องยนต์เศรษฐกิจดับลงพร้อมกัน
ในปี 2568 สามเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยทั้งภาคการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกำลังมีแนวโน้มชะลอตัวลงพร้อมๆกัน คือ
1) แรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวกำลังจะหายไปในปีนี้ โดยในช่วงที่ผ่านมาข้อมูลสะท้อนว่าแนวโน้มการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวกำลังชะลอตัวลงอย่างมีนัยยะสำคัญโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ยังไม่กลับมาและนิยมไปเที่ยวประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่น แทนการมาท่องเที่ยวไทย ส่งผลให้การท่องเที่ยวที่เคยเป็นแรงส่งหลักทั้งหมดของเศรษฐกิจ (ประมาน 2-3ppt) ในช่วงปี 2565 – 2567 จะเริ่มไม่ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยมากนักในปีนี้ โดย KKP ประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวที่ 36.2 ล้านคนเทียบกับปีก่อนที่ 35.6 ล้านคน หรือโตขึ้นเพียง 6 แสนคนเท่านั้น และมีความเสี่ยงจะลดลงได้
2) ภาคอุตสาหกรรมเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่อยู่ในทิศทางติดลบมาโดยตลอดอยู่แล้วโดยหดตัวมาตั้งแต่ปลายปี 2565 โดยนักวิเคราะห์หวังว่าจะฟื้นตัวขึ้นได้บ้างในปีนี้ แต่การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ ฯ จะเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมที่ทำให้เห็นการฟื้นตัวได้ยากซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐ ฯ เป็นหลัก
3) ภาคเกษตรมีแนวโน้มชะลอตัว สะท้อนจากข้อมูลการส่งออกภาคเกษตรที่หดตัวลงแรงโดยเฉพาะข้าวหลังอินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวได้ในปีนี้ โดยการส่งออกข้าวขาวติดลบเกือบ 30% ในช่วงไตรมาสแรก รายได้ที่ชะลอตัวลงในภาคเกษตรจะส่งผลต่อเนื่องให้การบริโภคในประเทศชะลอลง
3 ภาคเศรษฐกิจที่ชะลอลงพร้อมกันเป็นความเสี่ยงสำคัญที่เราอาจเห็นเศรษฐกิจไทยในปี 2568 โตได้ต่ำลงเรื่อย ๆ และสะท้อนว่าการชะตัวของเศรษฐกิจไทยไม่ได้เกิดจากนโยบายภาษีเป็นเรื่องสำคัญเรื่องเดียว

การเปลี่ยนแปลงของนโยบายการค้าโลกส่งผลลบต่อเศรษฐกิจไทย
เศรษฐกิจที่อ่อนแออยู่แล้วได้รับผลจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าเพิ่มเติม KKP Research ประเมินว่าในที่สุดระดับภาษีที่สหรัฐ ฯ คิดกับไทยและประเทศอื่นๆในโลกจะค้างอยู่ที่ระดับ 10% ภายใต้ข้อสมมติว่าเราเจรจากับสหรัฐให้ลดอัตราภาษีนำเข้าลงมาได้ ในขณะที่อัตราภาษีนำเข้ากับจีน ที่เริ่มมีการตกลงเบื้องต้นเพื่อลดภาษีนำเข้าลงมาได้แล้ว และน่าจะอยู่ในระดับที่สูงว่าประเทศอื่น
ภายใต้สถานการณ์นี้ผลกระทบจากภาษีต่อไทยจะเกิดขึ้นผ่าน 3 ช่องทางหลัก ได้แก่ ผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกไปยังสหรัฐฯ การให้ข้อแลกเปลี่ยนทางการค้าโดยเปิดตลาดของสินค้าบางกลุ่มให้กับสหรัฐ ฯ และผลกระทบทางอ้อมจากภาวะการค้าโลกและการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงต่อการส่งออกไทย
1 ผลกระทบทางตรงต่อการส่งออกไปสหรัฐ ฯ ในกรณีที่มีการขึ้นภาษี 10% ต่อสินค้าส่งออกจากไทยไปยังสหรัฐฯ KKP Research ประเมินว่า GDP ไทยอาจได้รับผลกระทบติดลบประมาณ 0.15 เปอร์เซ็นต์
2 การให้ข้อแลกเปลี่ยนในระหว่างการเจรจาอาจกระทบเศรษฐกิจบางภาคส่วน หากสหรัฐฯ เรียกร้องให้ไทยเปิดตลาดในภาคเกษตรมากขึ้น โดยเฉพาะหมู เนื้อวัว และนม จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดย GDP ภาคเกษตรมีสัดส่วน 8-9% และหมู-ไก่ 1.3% แต่ภาคเกษตรยังคงมีบทบาทในการจ้างงานในชนบทอย่างกว้างขวางโดยคิดเป็นกว่า 31% ของการจ้างงานทั้งหมด
3 ผลกระทบทางอ้อมจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว KKP Research ประเมินว่าในอดีต ทุกๆ การลดลงของ GDP โลก 1% จะส่งผลให้ GDP ไทยลดลงประมาณ 0.6%
ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยจากประเด็นสงครามการค้าในปี 2568 ยังคงเอียงไปทางด้านลบ หากการเจรจาล้มเหลวและสหรัฐฯ กลับมาเรียกเก็บภาษีที่อัตรา 36% หลังครบกำหนดผ่อนผัน 90 วัน ขณะเดียวกันเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวต่อเนื่อง KKP Research ประเมินว่า GDP ไทยในปี 2568 อาจลดลงต่ำสุดเหลือเพียง 0.9%
ทำไมไทยจะไม่กลับไปโต 3% ?
KKP ประเมินภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคตจากข้อมูลเศรษฐกิจในฝั่งอุปทานว่าค่อนข้างยากที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยกลับไปเติบโตที่ 3% แม้จะไม่มีมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐ ฯ ก็ตาม เพื่อที่จะรักษาระดับการเติบโตของเศรษฐกิจให้ใกล้เคียง 3% สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้น คือ
ในกรณีแรก ภาคการท่องเที่ยวจะต้องขยายตัวมากถึงปีละประมาน 7 – 10 ล้านคนเหมือนช่วงที่จีนเข้ามาท่องเที่ยวไทยใหม่ ๆ หรือจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังไทยต้องขยายตัวไปถึงประมาน 70 ล้านคนในปี 2573 เพื่อชดเชยกับภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวลง
ในกรณีสอง ภาคการผลิตไทยต้องกลับไปเติบโตเฉลี่ยปีละประมาน 5% เหมือนในช่วงปี 2543 ก่อนที่การท่องเที่ยวจะขยายตัวก้าวกระโดด ซึ่งเป็นไปได้ยากเมื่อพิจารณาการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในช่วงหลังโควิดที่โตได้เฉลี่ยเพียง -0.59% ต่อปี
ในกรณีสุดท้าย การใช้ภาคเกษตรเป็นตัวนำทางเศรษฐกิจ ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เพราะมีขนาดที่เล็กเกินไปเพียงประมาน 8% ของ GDP นอกจากนี้ในปัจจุบันการส่งออกในภาคเกษตรที่เติบโตติดลบในปี 2568 เนื่องจากข้าวไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับข้าวอินเดียได้
เศรษฐกิจในประเทศอยู่ในภาวะเปราะบาง
ภาคต่างประเทศที่อ่อนแอลงกลับมาเป็นคำถามว่าไทยพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศแทนได้หรือไม่ โดยช่วงที่ผ่านมาสินเชื่อภาคธนาคารปรับตัวแย่ลงมาอย่างต่อเนื่องในทุกกลุ่มซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ 1) หนี้เสียในภาคธนาคารปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะหนี้เสียในกลุ่มสินเชื่อรายย่อยและ SME ซึ่งสะท้อนความเปราะบางของเศรษฐกิจ 2) หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงส่งผลให้ Balance sheet ของภาคครัวเรือนในปัจจุบันอยู่ในสถาะอ่อนแอและมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 3) อัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันไม่เป็นระดับที่ผ่อนคลายและสนับสนุนการเติบโตของสินเชื่อ

เศรษฐกิจไทยโตต่ำลงเรื่อย ๆ หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย
KKP Research ชวนตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย 3 ข้อ คือ (1) นับตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไปจะเป็นปีที่ไม่เหลือแรงส่งให้เศรษฐกิจเติบโตได้อีกแล้วและยากที่แต่ละ Sector จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำการเติบโตทางเศรษฐกิจเหมือนในอดีต จะทำให้ GDP โตต่ำกว่า 2% (2) ปัญหาของภาคเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงไม่ได้เกิดจากเฉพาะปัจจัยระยะสั้นเช่นภาษีของ Trump ที่จะทยอยดีขึ้นเอง (เช่น หากมีการเจรจาการค้าสำเร็จ) แต่เป็นภาพสะท้อนปัญหาระยะยาว (3) เศรษฐกิจในประเทศอ่อนแอจากหนี้ครัวเรือนในขณะที่โลกกำลังผ่านจุดสูงสุดของโลกาภิวัฒน์ทำให้ไทยไม่เหลือแรงส่งจากทั้งในและต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้กลับมาเป็นคำถามต่อผู้วางนโยบายเศรษฐกิจของไทยว่า เศรษฐกิจไทยจะโตต่อไปได้อย่างไรในช่วงหลังจากนี้
KKP Research ประเมินว่าภาครัฐต้องไม่ยึดติดกับการทำนโยบายแบบเดิม ๆ และควรต้องมีการประสานด้านนโยบาย ตัวอย่างที่น่าสนใจคือบทเรียนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ภายใต้แนวคิด Abenomics เพื่อตอบสนองต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างยืดเยื้อถูกจัดวางภายใต้กรอบ “ลูกศรสามดอก” อันประกอบด้วยนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายที่เน้นเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ นโยบายการคลังแบบขยายตัว และการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ บทเรียนของญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีความครบถ้วนทั้งในมิติของระยะสั้นและระยะยาว และต้องมีทั้งนโยบายด้านอุปสงค์และนโยบายด้านโครงสร้าง การใช้นโยบายการเงินหรือการคลังเพียงอย่างเดียวไม่สามารถเปลี่ยนทิศทางของเศรษฐกิจได้ หากขาดการปฏิรูปเชิงโครงสร้างควบคู่กันไป
เกี่ยวกับ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เกิดขึ้นจากการร่วมกิจการระหว่างธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินการโดย ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) และธุรกิจตลาดทุนที่ดำเนินการโดยบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เกียรตินาคินภัทร จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ เคเคพี ไดม์ จำกัด โดยกลุ่มธุรกิจฯ มุ่งนำทรัพยากรสู่ลูกค้าอย่างถูกต้อง เหมาะสม และเปี่ยมประสิทธิภาพด้วยบริการที่เหนือความคาดหมาย
ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของกลุ่มธุรกิจฯ ครอบคลุมสินเชื่อบรรษัท สินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี และสินเชื่อรายย่อย เช่นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนธุรกิจด้านตลาดทุนของกลุ่มธุรกิจฯ ครอบคลุมธุรกิจวานิชธนกิจ (Investment Banking) ธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์สำหรับผู้ลงทุนสถาบัน ธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล (Wealth Management) ธุรกิจการลงทุน (Direct Investment) ตลอดจนธุรกิจจัดการกองทุน ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่www.kkpfg.com